เอเยนซี - ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ออกมาเตือนจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) ว่า มาตรการต่าง ๆ ที่จีนใช้ลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและอาจทำให้ตลาดอสังหาฯ ฟุบแบบฉับพลัน
รายงานของธนาคารโลกเกี่ยวกับจีนรายไตรมาสฉบับใหม่ ชี้ว่า “ภาวะช็อก! ที่ภาคอสังหาฯ ในจีนกำลังประสบเนื่องจากมาตรการสกัดการเก็งกำไรฯ ของจีน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเรื่องงบดุลธนาคารด้วย”
“ยิ่งกว่านั้น ภาวะตกต่ำในภาคอสังหาฯ จะกระทบต่อปัญหาการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ที่ต้องลงทุนในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน และรัฐบาลท้องถิ่นก็เป็นลูกค้ารายสำคัญในระบบธนาคารด้วย”
จีนได้ระดมสารพัดมาตรการออกมาช่วยคลายความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปลายปี 2552 หลังจากธนาคารปล่อยกู้แบบท่วมท้น ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ลอยตัวสูง จุดชนวนความหวาดกลัวต่อปัญหาฟองสบู่แตก
รัฐบาลจีนกังวลอย่างยิ่งว่า ราคาอสังหาฯ ที่พุ่งสูงอาจจุดชนวนการจลาจลได้ จึงได้ออกมาตรการห้ามซื้อบ้านหลังที่สองในบางเมือง เพิ่มเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะซื้อบ้าน และสำหรับในมหานครอย่างเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่งจะต้องจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วย
นอกจากนั้น ธนาคารกลางของจีนยังได้ประกาศซ้ำ ๆ ให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการเก็บเงินสำรองไว้ ให้ปล่อยกู้น้อยลง ตลอดจนเข้มงวดกวดขันการปล่อยกู้ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ที่ในเดือนมี.ค.พุ่งสูงสุดทุบสถิตินับแต่เดือนก.ค. 2551
สถิติทางการจีนเผยเมื่อต้นเดือนเม.ย. ระบุว่า มาตรการฯ ของรัฐบาลเริ่มออกฤทธิ์แล้ว โดยหลายเมืองในจีนเริ่มเห็นว่าราคาอสังหาฯ ลดลงบ้างแล้ว แม้ว่าลดลงไม่มากก็ตาม
แต่เวิลด์แบงก์ก็เตือนว่า หากจีนใช้เครื่องมือเชิงนโยบายควบคุมตลาด จะนำมาซึ่งความตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์สุดที่รัฐบาลจะคาดได้
สำหรับนโยบายทางการเงิน ธนาคารโลกก็กล่าวด้วยว่า “เป็นการเร็วเกินไปสำหรับรัฐบาลจีน ที่จะยุติมาตรการตรึงนโยบายทางการเงินในช่วงที่ปัญหาเงินเฟ้อและราคาสินค้าทั่วโลกยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง ทางออกของจีนคือ การรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินไว้”
ในขณะที่เวิลด์แบงก์ชี้ว่า เรื่องวางแผนคุมเงินเฟ้อยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวล (เงินเฟ้อจีนอยู่ที่ 3.3 % ในปี 2553 เพิ่มเป็น 5% ในปี 2554) และความเสี่ยงจากราคาสินค้าโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อยู่ในขั้นที่เรียกว่า “ควรระมัดระวัง” เท่านั้น โดยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นหัวใจหลักที่ในการควบคุมราคาอาหารและวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบราคาสูงจะส่งผลให้ราคาสินค้าอื่น ๆ ค่าจ้างแรงงาน และอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงตามไปด้วย
นอกจากนั้นธนาคารโลกยังปรับคำทำนายว่า เศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวช้าลงบ้าง ในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 9.3 (เทียบกับปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 10.3) จากที่เคยทำนายไว้ในเดือนม.ค. ว่าอยู่ที่ร้อยละ 8.7