นิวยอร์กไทมส์ - จีนเริ่มโครงการลงทุนก่อสร้างอาคารสงเคราะห์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคอย่างมโหฬารภายในประเทศ
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีของจีนระหว่างปี 2554-2558 นั้น จีนตั้งเป้าก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับประชาชนจำนวน 10 ล้านหน่วยในปีนี้ และ 36 ล้านหน่วยภายในช่วงแผนพัฒนาดังกล่าว เมื่อลองคิดคร่าว ๆ ว่า หากมีผู้อยู่อาศัยห้องละ 3 คนแล้ว อาคารสงเคราะห์ตามโครงการทั้งหมดนี้ย่อมมีมากพอสำหรับการอยู่อาศัยของประชากรฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และแคนาดารวมกันเลยทีเดียว
ในระยะสั้นแล้ว โครงการลงทุนก่อสร้างอาคารสงเคราะห์จะกระตุ้นการใช้โลหะ, ทองแดง และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งชาติผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์ นอกจากนั้น ยังหนุนการลงทุนในประเทศให้ขยายตัวถึงร้อยละ 48 ของจีดีพีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในระยะยาวแล้ว หากอภิมหาโครงการนี้บรรลุเป้าหมาย เมื่อถึงเวลานั้น จะเกิดผู้บริโภคชนชั้นใหม่ขึ้นมา โดยในทางทฤษฎีแล้ว โครงการดังกล่าวจะลดการออมเงินของชาวจีน ซึ่งมีการเก็บออมเงินกันมากจนเกินไป กล่าวคือชาวจีนหลายล้านคนไม่จำเป็นต้องออมเงินสำหรับซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีราคาในตลาดแพงลิ่วอีกต่อไป แต่จะนำเงินออมส่วนนี้ไปจับจ่ายใช้สอยด้านอื่น ๆ มากขึ้น
เมื่อมีประชาชนเข้ามาอาศัยในอาคารสงเคราะห์ ที่รัฐบาลสร้างให้ในเมืองต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งอัตราการขยายตัวของเมืองคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.5 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 51.5 ในปี 2558 นั้น สินค้าและบริการต่าง ๆ ก็จะมารอเข้าแถวให้ประชาชนเหล่านี้เลือกซื้อหามากมาย
นายหลุยส์ คุจส์ (Louis Kuijs) นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำกรุงปักกิ่งระบุว่า รัฐบาลจีนดำเนินความพยายามในการก่อสร้างอาคารสงเคราะห์ราคาถูกแก่ประชาชนมากกว่าที่เขาเคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวจีนเหลือเงินสำหรับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นใจต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
ผลจากโครงการดังกล่าวจีนกำลังรับเอารูปแบบตลาด 2 ระดับของสิงค์โปร์และฮ่องกงมาใช้กล่าวคือ อาคารสงเคราะห์สำหรับผู้มีรายได้น้อย และบ้านอาศัยตามราคาในตลาดสำหรับผู้มีรายได้มากกว่า
นอกจากการหว่านเมล็ดพืชสำหรับการบริโภคเพิ่มขึ้นของประชาชนแล้ว เมื่ออุปทานคืออาคารสงเคราะห์ผุดขึ้นมาจำนวนมหาศาลย่อมทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่พุ่งสูงในภาวะฟองสบู่แฟบลง และผ่อนคลายความไม่พอใจในหมู่ประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีเงินพอหาซื้อบ้านอีกด้วย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับดังกล่าวคาดว่าจะ “จุดประกายเรื่องราวการบริโภคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่” นายสตีเฟ่น โรช กรรมการบริหารกิตติมศักดิ์ ของมอร์แกน สแตนลีย์ เอเชีย ระบุ โดยโครงการดังกล่าวจะกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มถึงร้อยละ 42-45 ของจีดีพีภายในปี 2558 จากร้อยละ 36 ในปัจจุบัน