xs
xsm
sm
md
lg

"ณอคุณ" กระทุ้งบิ๊ก ปตท.แก้ท่อรั่ว ขีดเส้น 17 ก.ค. ต้องส่งก๊าซได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พลังงาน" ขีดเส้น 2 สัปดาห์ ท่อก๊าซเส้นที่ 1 ต้องจ่ายก๊าซได้ ยันค่าไฟต้องมีคนรับผิดชอบ พร้อมเร่ง ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ ม7 หมื่นตัน ภายใน 26 ก.ค.นี้ ด้านผู้บริหาร ปตท.ยอมรับ เลื่อนส่งนักประดาน้ำลงไปปิดวาล์วเป็นวันที่ 2 ก.ค. ยันโรงแยกก๊าซ และปิโตรเคมี เดินเครื่องอยู่เพียงแต่ลดกำลังผลิตลง เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณก๊าซ

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิง วันนี้ ตนเองได้เชิญทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาสอบถามความคืบหน้ากรณีท่อก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยรั่ว ซึ่งจากรายงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันที่ ปตท.จะส่งนักประดาน้ำสำรวจรายละเอียดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2554 นี้ จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2554 คาดว่าจะสามารถซ่อมแซมได้แล้วเสร็จและจะส่งผลให้ท่อเส้นที่ 1 สามารถส่งก๊าซได้ปกติ แต่ท่อกิ่งแหล่งปลาทองจะต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะยังมีปัญหาฝุ่นทรายมากทำให้สำรวจยังลำบากอยู่

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ประเมินว่า นับตั้งแต่ที่ท่อก๊าซรั่วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2554 จะใช้น้ำมันเตาทดแทนประมาณ 100-107 ล้านลิตร และเมื่อมาคำนวณส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเชื้อเพลิงที่คิดในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ระดับ 1 แสนล้านบาทแล้ว ถือว่าน้อยมาก จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ประกอบกับนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานได้กำชับไม่ให้ผลักภาระค่าไฟดังกล่าวให้แก่ประชาชนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะได้ไปพิจารณารายละเอียดถึงความรับผิดชอบร่วมกับปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ส่วนปัญหาที่น่ากังวลคือการติดตามเรือขนก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพราะขณะนี้เรือแอลเอ็นจีลำที่ 3 ขนาด 7 หมื่นตันหรือ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตกำลังโหลดก๊าซอยู่ ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีที่อยู่ในสต๊อกอีก 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตนั้นจะสามารถใช้ได้แค่ 20 วันเท่านั้น จึงสั่งให้ ปตท.เร่งจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาแทรกเพิ่มอีก 1 ลำ ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 นี้ ก่อนที่เรือแอลเอ็นจีลำที่ 4 จะเข้ามาตามกำหนดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 นี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ติดตามการดำเนินงานของ ปตท.และ กฟผ.หลังได้สั่งให้ กฟผ.ไปบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เพียงพอโดยการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มและปรับแผนซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ส่วน ปตท.ก็ได้จัดหาซื้อน้ำมันเตา 0.5% จำนวน 30 ล้านลิตรให้โรงไฟฟ้าบางประกงได้ 6 กรกฎาคม 2554 และจัดหาน้ำมันเตา 2%ให้โรงไฟฟ้ากระบี่จำนวน 29 ล้านลิตรได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นี้

*** ปตท.เลื่อนปิดวาล์วท่อก๊าซเป็น 2 ก.ค.นี้

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาท่อก๊าซรั่ว โดยระบุว่า ตามที่ ปตท.จะส่งนักประดาน้ำลงไปในทะเลบริเวณที่ท่อก๊าซฯรั่วเพื่อปิดวาล์วเพื่อตัดแยกระบบท่อก๊าซประธานในทะเลเส้นที่ 1 ขนาด 34 นิ้ว ออกจากท่อกิ่งขนาด 24 นิ้วที่รั่วในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรออุปกรณ์ในการดำน้ำจากสิงคโปร์ และเรือที่จะส่งนักประดาน้ำไปนั้นต้องห่างจากจุดเกิดเหตุ 100 เมตร จึงคาดว่าจะส่งนักประดาน้ำลลงไปปิดวาล์วได้ในวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2554 นี้

หลังจากนั้นจะตรวจสอบว่าท่อประธาน เส้นที่ 1 มีน้ำทะเลไหลเข้าท่อหรือไม่ หากไม่มีน้ำทะเลในท่อก๊าซฯเส้นที่ 1 ก็สามารถจัดส่งก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณได้ตามปกติประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ปริมาณก๊าซที่หายไปจากระบบมาจากแหล่งปลาทอง 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น แต่หากพบว่าท่อก๊าซเส้นที่ 1 มีน้ำทะเลอยู่ในท่อก็ต้องใช้เวลาดำเนินการกำจัดน้ำทะเลออกจากระบบท่อฯก่อนที่จะกลับมาส่งก๊าซได้อีกครั้ง ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ใด

ผลกระทบจากเหตุการณ์ท่อก๊าซฯในทะเลรั่วนั้น ทำให้ปริมาณก๊าซฯหายไป 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้ง 6 โรงของ ปตท.ยังเดินเครื่องผลิตตามปกติเพื่อป้อนให้ลูกค้า ขณะที่โรงแยกก๊าซ 5 ที่ปิดซ่อมบำรุงเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กลับมาเดินเครื่องแล้ว แต่ยังเดินเครื่องไม่เต็ม เนื่องจากปริมาณก๊าซฯในช่วงนี้ลดลง ส่วนโรงแครกเกอร์กำลังการผลิต 1 ล้านต่อปีของ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 นี้ ทำให้ช่วงนี้เครื่องจักรเดินไม่เต็มที่อยู่แล้ว ส่วนก๊าซหุงต้มก็มีเพียงพอที่จะป้อนให้ภาคครัวเรือนและขนส่ง และมีการนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปเสริมระบบการผลิตไฟฟ้าด้วย

"ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและพม่าเข้าสู่ระบบประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยท่อเส้น 1 รับก๊าซ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อ วัน ซึ่งหยุดรับก๊าซจากแหล่งปลาทอง 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนปริมาณก๊าซฯที่จากแหล่งเอราวัณอีก 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันถูกส่งไปยังท่อก๊าซในทะเลเส้น 2 และเส้น 3 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแทน ที่หายไปจริงแค่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทาง ปตท. ก็บริหารโดยลดกำลังผลิตโรงแยกก๊าซ นำแอลเอ็นจีและน้ำมันเตามาเสริม"

ปัจจุบัน ปตท.ได้จัดหาเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซฯที่ลดลง โดยมีปริมาณสำรองน้ำมันเตาอยู่ 120 ล้านลิตร แต่ที่ช้ในกรณีนี้ได้ คือ น้ำมันเตา กำมะถันต่ำ ร้อยละ 2 และ ร้อยละ 0.5 ซึ่งมีปริมาณสำรองประมาณ 50 ล้านลิตร และจะนำเข้ามาเพิ่มอีก 30 ล้านลิตร โดยจัดส่งน้ำมันเตาในปริมาณ 10 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อใช้ ผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นอีก 70,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจาก บริษัท ฮุนได เฮฟวี่ อินดัสตรี ซึ่งเป็นผู้รับเหมาวางท่อก๊าซฯเชื่อมจากแหล่งปลาทองมายังท่อก๊าซฯเส้น 3 มีการยกสมอเรือเพื่อข้ามท่อแล้วไปเกี่ยวโดนท่อกิ่งขนาด 24 นิ้วทำให้ท่อดังกล่าวฉีกขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น