xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” ถือหาง “ดีแทค” ห่วงเหลือ “ทรู” รายเดียวผูกขาดตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” เผย มุมมอง กม.แข่งขันทางการค้า คาดกรณี “ดีแทค” ไม่ผิด พ.ร.บ. ต่างด้าว เพราะตรวจเพียงโครงสร้างผู้ถือหุ้น แนะสอบเชิงลึกถึงเม็ดเงินที่เข้ามาซื้อ หวั่นซ้ำรอย “กุหลาบแก้ว” ขณะที่ “เดือนเด่น” หนุนต่างชาติถือหุ้นธุรกิจโทรคมนาคม 100% ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ ยันหากเข้มงวดเหลือ “ทรู” เพียงรายเดียว เท่ากับเป็นการผู้ขาดตลาดอยู่ดี

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา “การแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 4(2) ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้า” ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยยกตัวอย่างกรณีโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งเชื่อว่าไม่ผิด พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 อย่างแน่นอน เพราะกฎหมายฉบับนี้ตรวจสอบการถือหุ้นเพียงชั้นเดียว

ทั้งนี้ การตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เกิดขึ้นตามที่ทางกลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ร้องเรียนมานั้น หากเป็นการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น เชื่อว่า ดีแทคจะหลุดพ้นจากเรื่องนี้ แต่ต้องดูในรายละเอียดเชิงลึก ว่า ผู้ถือหุ้นรายอื่นนั้นใช้เงินของตัวเองในการลงทุน หรือได้รับเงินมาจากดีแทค ซึ่งกรณีนี้จะเป็นลักษณะเดียวกับคดีกุหลาบแก้ว

สำหรับในส่วนของทีดีอาร์ไอ เห็นว่า ธุรกิจโทรคมนาคมควรเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุน และถือหุ้นได้ 100% เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการหลายราย และส่งผลดีต่อการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพราะหากขณะนี้ กฎหมายไทยเข้มงวดเรื่องต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม ก็จะเหลือแค่ทรูเพียงรายเดียวที่ให้บริการได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการผูกขาดตลาดอยู่ดี

“ในธุรกิจโทรคมนาคม มองว่า ใครเป็นเจ้าของก็ได้ เพราะโดยกฎหมายไทยสามารถกำหนดกฎเกณฑ์อะไรก็ได้ที่จะเป็นประโยชน์หากต่างชาติทำผิดจากการทำธุรกิจในไทย เช่น ยึดคืนคลื่น แต่โดยกฎหมายไม่ควรห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมา เมื่อนักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามา ผลที่เกิดขึ้นคือแย่ทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีในธุรกิจต่างๆ จะส่งผลดีมากขึ้น หากรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่อง พ.ร.บ.การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจต้องเข้าสู่กระบวนการแข่งขันที่เป็นธรรมเช่นเดียวกับเอกชน และผู้บริโภคสามารถฟ้องหน่วยงานเหล่านี้ได้ ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายนี้ไม่ได้รับการผลักดันอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีผลตั้งแต่ปี 2542 แล้ว ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจมีอำนาจเหนือเอกชน

ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนกรณีของต่างประเทศ คือ จงหวา เทเลคอม ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรัฐวิสาหกิจ ประเทศไต้หวัน ที่ถูกสั่งให้ยกเลิกการอุดหนุนไขว้ จากการเก็บค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานในราคาสูงมาก เนื่องจากผูกขาดรายเดียว แล้วนำค่าบริการที่เก็บได้นั้นไปชดเชยกับราคาโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้สามารถทำราคาต่ำกว่าเอกชนได้ เช่นเดียวกับการไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดยเปิดให้เอกชนสามารถแข่งขันให้บริการด้านพัสดุภัณฑ์ได้จากเดิมที่เคยผูกขาดเพียงรายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น