“พาณิชย์” รอเก้อ! 3 บริษัทลูก “ดีแทค” แค่ส่งตัวแทนรับทราบ พร้อมเลื่อนการให้ข้อมูลแบบไม่มีกำหนด มั่นใจผลสอบได้จ้อสรุป 4 ก.ค.นี้ ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ แนะจับตาการประชุม คกก.สอบนอมินีชุดใหญ่ 29 มิ.ย.นี้ พิจารณาข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดขณะที่ “กสท” ปัดไม่มีหน้าที่สอบคู่สัญญา ลั่นเดินหน้าทำ 3จี
รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยความคืบหน้ากรณีคณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หลังได้รับข้อร้องเรียนจากบริษัท ทรูมูฟ จำกัด มีการตั้งข้อสังเกตว่าดีแทคอาจเป็นบริษัทต่างด้าว โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 (วานนี้) ซึ่งได้มีการออกหนังสือเชิญ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ตั๊ก วู โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โบเลโร จำกัด ที่ถือหุ้นในบริษัท Telenor Asia Pte Ltd.มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
โดยเมื่อวานนี้ ทั้ง 3 บริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพบกรรมการแล้ว เพื่อรับทราบประเด็นการตรวจสอบ และได้แจ้งขอเลื่อนให้ข้อมูลแก่กรรมการออกไปก่อน โดยไม่ได้กำหนดว่าจะเข้าให้ข้อมูลวันใด ซึ่งเป็นไปตามสิทธิ์ที่ผู้ถูกเรียกสอบข้อมูลจะดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่า การตรวจสอบจะเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ คือ 4 กรกฎาคม 2554 อย่างแน่นอน เพราะข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่อยู่ในการดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่แล้ว ส่วนการประชุมคณะกรรมการทั้งชุดจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นี้ เพื่อพิจารณาข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมด
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า กสท ไม่ได้มีหน้าที่ไปตรวจสอบคู่สัญญาสัมปทานว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนความคืบหน้าการอนุมัติดีแทคให้เอชเอสพีเอในการให้บริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 1,220 สถานีฐานนั้น อยู่ระหว่างการรอหนังสือตอบกลับว่า กสท สามารถอนุมัติให้บริการดังกล่าวได้หรือไม่
นายจิรายุทธ ยังกล่าวถึงสัญญาร่วมธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี เอชเอสพีเอ ระหว่าง กสท กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเชื่อว่า หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา และต้องการตรวจสอบความโปร่งใส กสท ก็พร้อมชี้แจง และยินดีให้ข้อมูล มั่นใจว่าการดำเนินการในสัญญาดังกล่าวมีความรอบคอบ และเป็นประโยชน์ต่อ กสท และเป็นไปตามพระราชบัญญัติร่วมทุนปี 2535 ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงไอซีที ได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับค่าเช่าโครงข่ายตลอดสัญญา 14.5 ปี รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นเงินที่สูงเกินไป
ส่วนความคืบหน้าแผนการจัดหาดาวเทียมเพื่อความมั่นคง กระทรวงไอซีทีได้ให้โจทก์ กสท เป็นผู้ศึกษาการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ หรือเช่าดาวเทียมประเทศอื่นแล้วย้ายมาวงโคจรที่120 องศาตะวันออกและ 50.5 องศาตะวันออก เพื่อรักษาสิทธิวงโคจรของไทยไว้ แต่ยอมรับว่าการดำเนินการภายในระยะเวลาไม่ถึง 6-7 เดือน เป็นเรื่องที่ยาก
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานคอมมูนิค เอเชีย 2011 พบว่า มีดาวเทียมอยู่ 2-3 ดวง ที่น่าสนใจ ประกอบด้วยดาวเทียมแถบยุโรปคือประเทศลักเซมเบิร์ก อิตาลี และฝรั่งเศส แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ เพราะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ(สเปก) เป็นไปตามเงื่อนไขที่ไทยได้ทำไว้กับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)หรือไม่ หากเป็นไปตามเงื่อไขก็ต้องเจรจาเรื่องราคากันอีกที
“เรากำลังดูสเปก ส่วนจะดำเนินการลงทุนสร้างเองเลยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอความชัดเจนเรื่องใบอนุญาต (ไลเซนส์) ด้วย โดยต้องคุยทั้งไอซีที, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งการจัดหาดาวเทียมต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์วงโคจร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่คาดว่าประมาณเดือนกรกฎาคม 2554 นี้ น่าจะได้ข้อสรุปว่า ทำได้หรือไม่”