"ดีแทค" ย้ำเป็นบริษัทไทยแท้ ดำเนินธุรกิจถูกต้องตาม กม. ทุกประการ พร้อมวอนลูกค้าไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันใจได้รับความเป็นธรรม "กรมพัฒนาธุรกิจค้า" เตรียมเชิญ "ไทยเทลโค-ตั๊กวู-โบเลโร" สอบข้อมูล "นอมินี" เพิ่มเติม 29 มิ.ย.นี้ ยันได้ข้อสรุปสถานะ 4 ก.ค.นี้ ตามกรอบเวลา
นายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวภายหลังเข้าให้ข้อมูลและรับฟังข้อร้องเรียนกับคณะทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หลังบริษัท ทรูมูฟ จำกัด เข้ายื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบดีแทคกรณีมีผู้ถือหุ้นต่างด้าวเป็นสัดส่วนมากกว่าคนไทยหรือเกินกว่าที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนด โดยตัวแทนของดีแทคยืนยันว่า บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทคนไทย และดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย โดยหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้ความเป็นธรรม พร้อมขอให้ลูกค้าของดีแทคไม่ต้องกังวลต่อปัญหาดังกล่าว
ด้านนายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว เปิดเผยภายหลังเชิญประชุมคณะทำงานตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของดีแทค โดยระบุว่า เป็นการเรียกดีแทคเข้ามาพบคณะกรรมการฯ เป็นครั้งแรก และแจ้งให้บริษัทดีแทคทราบถึงการตั้งข้อสังเกตของกรรมาธิการและบริษัททรูให้รับทราบ
"คาดว่าฝ่ายดีแทคจะไปพิจารณาหาหลักฐานยืนยันให้คณะกรรมการฯ สิ้นข้อสงสัย แต่เอกสารหลักฐานและแนวทางการชี้แจงของดีแทคจะเป็นอย่างไร เป็นวิจารณญาณของทางบริษัท เบื้องต้นในการหารือดีแทคไม่ได้ชี้แจงใดๆ เพิ่มเติม ระบุเพียงว่า ขณะนี้ผู้บริหารเดินทางไปต่างประเทศจึงขอเวลารวบรวมหลักฐานก่อน"
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นี้ แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่จะหารือกันทุกวัน โดยวันนี้ (24 มิถุนายน 2554) คณะกรรมการฯ กำหนดให้เชิญ บริษัทที่มีสัดส่วนถือหุ้นสูงในดีแทคจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ตั๊ก วู โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โบเลโร จำกัด ที่ถือหุ้นในบริษัท Telenor Asia Pte Ltd. มาให้ข้อมูลซึ่งจะชี้แจงเป็นเอกสาร หรือส่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 3 บริษัทหรือแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ดำเนินการใดๆ เลยก็ได้ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาตามข้อมูลหลักฐานที่กรมฯ มีอยู่เป็นหลัก
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าคณะทำงานของกรมฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมสรรพากร และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะสามารถตรวจสอบสถานะบริษัทดีแทคได้ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 นี้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 คณะทำงานได้เชิญตัวแทนทั้งจากดีแทคและทรูมูฟ เข้าให้ข้อมูลและนำหลักฐานเข้าชี้แจงกับคณะทำงานอีกครั้ง พร้อมยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย