กรมพัฒนาธุรกิจฯ เปิดโต๊ะแถลงด่วน! ยันสถานะ "ดีแทค" ธุรกิจของคนไทยถือหุ้น 51% ต่างด้าว 49% เตรียมรอข้อมูลใหม่จาก "ทรูมูฟ" เพื่อตรวจในเชิงลึก พร้อมเชิญ ก.ล.ต. และแบงก์ชาติ เข้าร่วม หากพบถือหุ้น 71.35% อาจมีความผิดถึงขั้นสั่งปิดกิจการ
นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดแถลงข่าวกรณีปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นธุรกิจของคนไทย ซึ่งมีการพิจารณาจากเอกสารการจดทะเบียนบริษัท และผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทย 51% และต่างชาติถือหุ้น 49%
โดยวันนี้เวลา 13.00 น. บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะนำเอกสารการถือหุ้นของ DTAC มาให้กรมตรวจสอบ ซึ่งทรูมูฟอ้างว่าจากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า DTAC มีทุนต่างด้าวอยู่ 71.35% และมีทุนไทยอยู่ 28.65% ซึ่งกรมจะพิจารณาตรวจสอบตามที่ทรูมูฟนำเสนอ
ส่วนกรณีที่ทรูมูฟไปร้องทุกข์กล่าวโทษดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว เกิดจากการวิเคราะห์เชิงลึก โดยการพิจารณาจากบริษัท 56 รายที่ถือหุ้นใน DTAC ซึ่งทรูมูฟอาจจะพบว่า มีคนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เหล่านี้ จนสรุปออกมาว่ามีหุ้นต่างชาติถือหุ้นใน DTAC สัดส่วน 71.35% และมีคนไทยถือหุ้นเพียง 28.65% ขณะที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม ได้มีหนังสือถึงกรมแจ้งผลการตรวจสอบ 2 บริษัทโทรคมนาคม คือ ทรูมูฟ และ DTAC แจ้งว่า ดีแทคมีการถือหุ้นของคนต่างชาติสลับซับซ้อน โยงกันไปมา น่าเข้าข่ายมีคนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49% และขอให้กรมฯ ทบทวนกฎหมายเพื่อหาทางป้องกัน
“ จากการพิจารณาตามหลักฐานทางทะเบียน ดีแทคเป็นบริษัทคนไทย เพราะตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่ให้คิดนิยามคนต่างด้าวแค่ครั้งเดียว ตรงไปตรงมาตามที่แจ้ง DTAC แจ้งมาแบบนี้ ก็ต้องยึดตามที่แจ้ง แต่กฎหมายก็บัญญัติไว้อีกว่า ถ้าปรากฏมีข้อสงสัยหรือปรากฏว่ามีนอมินีคอยช่วยเหลือให้สนับสนุน ก็จะเข้าข่ายมาตรา 36 ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไป”
ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่า DTAC มีทุนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนดังกล่าวจริงก็เท่ากับ DTAC มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าว ซึ่งจะตรวจสอบย้อนหลังว่าก่อนที่ DTAC จะเข้ามาประกอบธุรกิจนี้ได้ขออนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ เพราะกิจการโทรคมนาคมเป็นธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ต่างชาติจะต้องขออนุญาตก่อน
สำหรับการตรวจสอบ กรมจะเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบ แต่การตรวจสอบของกรมก็มีข้อจำกัดในการตรวจสอบ เพราะมีผู้ถือหุ้นมากกว่า 3 หมื่นราย และยังมีนิติบุคคลอีก 56 รายที่เข้ามาถือหุ้น โดยในส่วนของการตรวจสอบผู้ถือหุ้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตรงตัว แต่การตรวจสอบนิติบุคคล 56 ราย ในเชิงลึกและมีลำดับชั้นการถือหุ้นมาก ก็จะต้องใช้เวลา และในการตรวจสอบ แม้จะมีอำนาจเชิญบุคคล เรียกเอกสาร แต่ก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะมีโทษปรับแค่ 5,000 บาท
"เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสอบของกองปราบปรามอยู่ด้วย ซึ่งกรมก็พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้ เพราะข้อมูลที่มีอยู่เป็นเอกสารเปิดเผย ใครก็สามารถมาขอดูได้ และเห็นว่าน่าจะคืบหน้าเร็วกว่า เพราะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยในส่วนของ DTAC หากมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จะชี้แจง ก็ให้ยื่นมาได้ กรมก็พร้อมที่จะรับฟังข้อมูล"
ทั้งนี้ กรมขอยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่เชื่อถือได้ ถ้าเชื่อถือไม่ได้จะไปเชื่อถือข้อมูลของใคร โดยกรมฯ เป็นนายทะเบียน ดูแลนิติบุคคลทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านราย มีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทมหาชนประมาณ 1 พันราย หากไม่เชื่อถือข้อมูลตรงนี้ ประเทศชาติจะอยู่ได้ยังไง
สำหรับมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สรุปความได้ว่า คนไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
นายบรรยงค์กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าดีแทคมีต่างด้าวถือหุ้นเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จริง ก็จะถือว่าความผิดสำเร็จ ก็ต้องไปดูว่าความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด ย้อนหลังไปแค่ไหน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 (21) ที่คนต่างชาติถ้าจะมาประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตก่อน แต่ถ้าไม่ขอก็แปลว่าประกอบธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาทและศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการประกอบกิจการ ถ้าไม่ยุติก็จะมีโทษปรับวันละ 10,000 บาท ส่วนกรณีตรวจสอบพบว่ามีนอมินีคนไทยคอยให้ความช่วยเหลือทำการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ และสนับสนุนให้คนต่างชาติทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตก็จะมีโทษสถานเดียวกัน
โดยวานนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตนเองได้มอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียด คาดว่าภายใน 2-3 วัน น่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่ามีการกระทำผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากกระทำผิดต่อกฎหมายก็มีโทษทั้งจำคุกและปรับ อีกทั้งได้กำชับให้มีการตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างแท้จริงโดยจะเข้าไปดูตั้งแต่การจดทะเบียนการถือหุ้นและสัดส่วนการบริหารงาน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในข้อกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ แม้ว่าข้อกฎหมายคนไทยจะถือหุ้น 51%และต่างชาติถือหุ้น 49% โดยคนไทยจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารงาน แต่ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนว่าบริษัทต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทของไทย ถึงแม้จะไม่ใช่เป็นการถือหุ้นแทนหรือนอมินี แต่การบริหารงานและการตัดสินใจจะอยู่กับชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่