xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แนะไม่ควรตระหนกเงินเฟ้อ 5% ห่วงบทวิเคราะห์ต่างชาติทำไทยเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินไหลออกทั้ง “เร็ว” และ “มาก” คาดนักลงทุนกังวล ศก.โลก และการเมืองไทยวุ่น ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 3 ที่อาจพุ่งถึง 5% ไม่ควรตระหนก มั่นใจ ธปท.คุมได้อยู่หมัด พร้อมแสดงความเป็นห่วงบทวิเคราะห์โบรกต่างชาติ กระทบการลงทุนในตลาดหุ้น แถมทำภาพลักษณ์ไทยเสียหาย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายการเงินของไทยกับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ภายใต้ประชาคมอาเซียน วานนี้ โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลกอย่างรุนแรงมากขึ้น

โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในไทยถึง 25.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2552 มีเงินทุนสุทธิ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4 ปีย้อนหลังเฉลี่ย 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 มีเงินทุนสุทธิ 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม พบว่า ช่วง 2 อาทิตย์นี้ เงินไหลออกค่อนข้างเร็วและมากพอควร ทั้งจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้ โดยเป็นผลจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ได้รับการแก้ไข และการเมืองไทยที่จะมีการเลือกตั้ง

ตลอด 5 เดือนแรกของปีนี้ แรงกดดันเงินทุนไหลเข้าไทยผันผวนน้อยกว่าไตรมาส 3-4 ปี 2553 โดยไตรมาสแรกปีนี้ มีเงินไหลเข้าไทย 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มเป็น 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ขณะที่ปี 2553 เงินไหลเข้าสุทธิ 25,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านเหรียญในช่วง 4 ปีก่อน แต่ ธปท.ยังต้องระมัดระวังไม่มีความผันผวนมากเกินไป และไม่ให้ขนาดของเงินที่เข้ามาใหญ่เกินไป เนื่องจากเงินที่ไหลเข้ามาแต่ละครั้งในปีนี้เป็นก้อนใหญ่กว่าในอดีตมาก

การที่เงินทุนไหลเข้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และพัฒนาตลาดการเงินให้กว้างและลึกขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความอ่อนไหวต่อระบบเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ และยิ่งหากเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น อาจกระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและตัวแปรอื่นๆ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว การเปิดเสรีทางการเงินของแต่ละประเทศจึงควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนเรื่องการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 และมีข้อเสนอให้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเดียวนั้น มองว่า เป็นไปได้ยาก เพราะทำให้เกิดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ และหากมีปัญหาจะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวเช่นเดียวกับกรีซ

นายประสาร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของประเทศยังคงมีแรงกดดันจากปัญหาราคาน้ำมัน และราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และจะเป็นลักษณะนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขณะนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 และมีโอกาสสูงแตะร้อยละ 3 ภายในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ หากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพที่จะสิ้นสุดในปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากมีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวต่อไปอีก จะทำให้เงินเฟ้อลดลงได้ประมาณร้อยละ 0.5-0.6 โอกาสที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะแตะร้อยละ 3 ก็จะลดลง

“ผมมั่นใจว่า จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟอให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ และจะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการไม่ให้ตื่นตระหนกต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสแตะร้อยละ 3 ได้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อไตรมาสที่ 4 ของปีนี้”

อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อก คาดว่าตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาสแรกปี 2555 เงินเฟ้อของประเทศจะลดต่ำลงมาอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป มีโอกาสขยับเข้าใกล้ร้อยละ 5 ในปีนี้ ธปท.จึงต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพที่จะสิ้นสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 นี้ ออกไป แต่หากมีการต่อมาตรการ โอกาสที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวถึงร้อยละ 3 จะน้อยลง

ส่วนภาวะหุ้นไทยที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากต่างชาติเทขายสุทธิในช่วง 8-9 วันที่ผ่านมา มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และเป็นการไหลออกไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ประกอบกับสถาบันจัดอันดับหลายแห่งออกบทความที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่มีผลต่อความน่าสนใจการลงทุนในประเทศไทยลดลง ทำให้ต่างชาติชะลอการลงทุนในไทย ซึ่ง ธปท.เป็นห่วงว่าการออกบทวิเคราะห์ต่างๆ ในขณะนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

นายประสาร ย้ำด้วยว่า ธปท.ไม่ได้แจ้งความไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มีเงินหายออกจากระบบจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีการเบิกถอนเงินสดผิดปกติแต่อย่างใด โดยเงินสดจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเงินสดที่หมุนเวียนในระบบจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ยังไม่มีการติดต่ออย่างเป็นทางการ
กำลังโหลดความคิดเห็น