xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.ตีปี๊บปล่อยกู้บ้านหลังแรก ดบ. 0% จันทร์นี้ โชว์แผนรับมือคลื่นมหาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊ก ธอส. แจงความพร้อมรับมือคลื่น ปชช. แห่ขอกู้เงิน โครงการบ้านหลังแรก ดอก 0% นาน 2 ปี จันทร์นี้ เตรียมอัดบัตรคิวไว้เพียบ พร้อมระบบ "แมนนวล" สำรองไว้ หากระบบออนไลน์ เกิดปัญหาสะดุด ยันครบ 2.5 หมื่นล้าน ปิดระบบทันที แนะเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม พร้อมเปิดเงื่อนไข-หลักเกณฑ์ การพิจารณาอนุมัติ

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงความพร้อมในการปล่อยกู้ “โครงการบ้าน ธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก” ดอกเบี้ย 0% จำนวน 2 ปี กับลูกค้าที่ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคาดว่า ในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2554 ธนาคารได้เตรียมความพร้อมรองรับเอาไว้แล้ว ทั่งที่ ธอส.สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ 153 สาขา ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากแห่เข้ามาขอกู้เงิน

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ ธอส. แนะนำว่า ประชาชนที่จะมาขอยื่นกู้ ควรจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้พร้อม เนื่อจากควาดว่าจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว แต่การให้บริการอาจไม่เพียงพอรอรับกับประชาชนที่มีจำนวนมาก โดยธนาคารได้จัดเตรียมมาตรการต่างๆ ทั้งเรื่องขั้นตอนการให้บริการที่ชัดเจนและโปร่งใส การรักษาความปลอดภัย และสถานที่จอดรถ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและประชาชนที่เข้ามาติดต่อกับธนาคารอย่างทั่วถึง

ดังนั้น ธนาคารจะเปิดแจกบัตรคิวให้กับลูกค้าตั้งแต่เวลา 07.00 น. และจะมีการตั้งโต๊ะเพื่อตรวจเอกสารว่าลูกค้าได้นำมาครบถ้วนหรือไม่ และเริ่มให้ยื่นเอกสารเพื่อตรวจความถูกต้องได้ตั้งแต่เวลา 08.30 น. สำหรับสาขาในต่างจังหวัดที่มีพื้นที่จำกัด อาจจะต้องใช้พื้นที่ลานจอดรถตั้งโต๊ะแจกบัตรคิว และตรวจสอบเอกสารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า

สำหรับเอกสารหลักฐานที่ลูกค้าต้องนำมาแสดงในวันยื่นกู้ ต้องลงนามรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับมี 5 อย่างได้แก่ 1.สำเนาบัตรประชาชน/ข้าราชการ +ทะเบียนสมรส (กรณีสมรสแล้ว) 2.สำเนาทะเบียนบ้านทุกหน้า 3.เอกสารแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน บัญชีเงินฝาก สำเนาการค้าหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ หรือหลักฐานการแสดงฐานะทางการเงินอื่น ๆ 4.สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญามัดจำ หรือสำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร/คำขออนุญาต และ 5.สำเนาโฉนด หรือสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด

"ถ้าลูกค้าเตรียมเอกสารมาพร้อม ก็มีสิทธิได้เข้าโครงการก่อน เหลือแต่รอว่าคุณสมบัติตรงตามที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ คาดว่าน่าจะมีประชาชนให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะที่สำนักงานใหญ่ได้เตรียมบัตรคิวไว้ 1 พันใบ และบัตรสำรองอีก 1 พันใบ"

นอกจากนี้ ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าคิวว่าผู้ใดจะได้รับสินเชื่อหรือไม่นั้น ธนาคารได้เตรียมระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ข้อมูลจากทุกสาขาจากทั่วประเทศ เพื่อออนไลน์ดูยอดสินเชื่อที่มีการยื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อ หากครบ 2.5 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็จะเปิดเป็นรายชื่อสำรองไว้อีก 5 พันล้านบาท

ส่วนกรณีผู้ที่ได้สิทธิเข้าโครงการรอบ 2.5 หมื่นล้านบาทแรกมีคุณสมบัติไม่ผ่าน และเมื่อได้ยอดครบทั้งสองจำนวน คือ 2.5 หมื่นล้านบาท และยอดสำรองอีก 5 พันล้านบาท ธนาคารก็จะทำการปิดรับการยื่นขอสินเชื่อในทันที

สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วง และผู้บริหารธนาคารได้หารือกันอย่างหนัก ได้แก่ ระบบคอร์แบงกิ้งของธนาคารที่ยังไม่เสถียร และมีปัญหาระบบขัดข้องเป็นระยะๆ และหากใช้บริการหนักพร้อมกันทุกสาขา อาจจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ธนาคารได้เตรียมระบบสำรอง คือ ระบบปฏิบัติการด้วยมือโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (manual) หากระบบล่มในเวลาที่กำหนดก็จะใช้ระบบสำรองทันที โดยจะเขียนเอกสารด้วยมือ และแฟกซ์เข้ามาที่สำนักงานใหญ่ โดยดูจากระยะเวลาที่ตั้งค่าไว้ที่เครื่องแฟกซ์

กรรมการผู้จัดการ ธอส. ยังกล่าวยืนยันว่า หากคำขอของจังหวัดใดมาก่อน จะมีบันทึกเวลา ก็จะถือว่าเข้าเกณฑ์ว่ามาขอรับบริการตามเวลา ซึ่งจะได้รับการพิจารณาก่อน และเมื่อระบบกลับมาใช้บริการได้ ก็จะกลับมาใช้บริการออนไลน์ตามปกติ

**เปิดหลักเกณฑ์-เงื่อไข การพิจารณา

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า เมื่อลูกค้ายื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ธนาคารจะวิเคราะห์สินเชื่อตามเกณฑ์ปกติ ตั้งแต่การดูข้อมูลจากเครดิตบูโร และจะตรวจสอบข้อมูลเรื่องกรรมสิทธิ์เจ้าของผ่านกับทางกรมที่ดิน รวมถึงการตรวจสอบหลักประกันเพื่อทำการประเมินราคาที่ดินซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ

ขณะที่หลักเกณฑ์การขอสินเชื่อ จะกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อจะต้องไม่เคยมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน และไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ส่วนผู้กู้ร่วมสามารถติดเครดิตบูโรเรื่องกู้ที่อยู่อาศัยได้ เพราะธนาคารจะพิจารณาเฉพาะผู้กู้หลักเท่านั้น สามารถให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด บ้านเดี่ยวบ้านแฝด บ้านมือสอง รวมถึงให้กู้เพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือเพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร โดยราคาที่อยู่อาศัยและวงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่นับรวมกรณีเช่น ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท แล้วเอาเงินมาโปะ 2 ล้านบาท และขอกู้เพียง 3 ล้านบาท ถือว่าไม่ได้

กรณีที่กู้เพื่อสร้างบ้าน ต้องมีเอกสารยืนยัน เช่น สัญญาก่อสร้างของผู้รับเหมาเพื่อไม่ให้เป็นการล็อกสินเชื่อเพื่อเอาไปไว้สร้างบ้านในอนาคต และผู้ที่กู้เพื่อสร้างบ้านจะไม่ถูกบวกดอกเบี้ย 0.5% เหมือนกับโครงการปกติ แต่จะได้รับตามสิทธิ คือดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 2 ปี

สำหรับผู้ที่ต้องการโอนดอกเบี้ย เช่นคนที่เคยเข้าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ย 0%นาน 6 เดือน จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 2 และเดือนที่ 13 เป็นต้นไปจะใช้อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 1 ตลอดอายุสัญญาเงินกู้นั้น หากต้องการย้ายมาเข้าโครงการดอกเบี้ย 0% นาน 2 ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมย้ายดอกเบี้ย 1,000 บาท รวมถึงกรณีการโอนสิทธิระหว่างสามีให้กับภรรยาธนาคารไม่รับจองบ้านที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จรวมถึงพนักงานและผู้บริหาร ธอส. ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อในโครงการนี้ได้

โครงการบ้านหลังแรกนี้จะให้กู้ไม่เกิน3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 0%ในช่วง 2 ปีแรก ปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ลบ 0.50% ต่อปี (ลูกค้าสวัสดิการ) ส่วนลูกค้ารายย่อยทั่วไป คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ปีที่ 6 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ลบ1.00% ต่อปี (ลูกค้าสวัสดิการ) MRR ลบ0.50% ต่อปี (ลูกค้ารายย่อยทั่วไป) ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.75%ต่อปี ผ่อนได้นานสูงสุด 30 ปี

โดยเงื่อนไขพิเศษสุดสำหรับลูกค้าตามโครงการนี้ รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระค่าจดจำนองและค่าธรรมเนียมการโอนครึ่งหนึ่ง หรือจ่ายตามจริงสูงสุด 1.00% (จากค่าโอนปกติ 2.00% ของราคาประเมิน) ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 5 ปี อยู่ที่ 3.9% กรณีที่ต้องการไถ่ถอนก่อนกำหนด5 ปี จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใน 2 ปีแรกเป็นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร

ทั้งนี้ ค่างวดในช่วง 2 ปีแรกจะนำเงินตัดต้นทั้งหมด โดยผู้ที่กู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาทในช่วง 2 ปีแรกจะเสียค่างวดเดือนละ5,000 บาท หลังจากนั้นจะผ่อนงวดละ6,200 บาท คนที่กู้ 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรกจะเสียค่างวด 9,900 บาท หลังจากนั้นจะผ่อนค่างวด 1.23 หมื่นบาทต่อเดือนและคนที่กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท จะเสียค่างวดในช่วง 2 ปีแรกที่ 1.48 หมื่นบาท หลังจากนั้นผ่อนงวดละ 1.85 หมื่นบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น