xs
xsm
sm
md
lg

จ่อแก้ กม.เงินคงคลัง ฝากกิน ดบ.-แยกหนี้ รสก.อ้างลดต้นทุนบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สบน.เดินหน้าแก้แก้กฎหมายเงินคงคลัง อ้างลดต้นทุนบริหาร เผยนำไปฝากแบงก์หากินดอกเบี้ยปีละ 3 พันล้าน พร้อมแก้วิธีบันทึกบัญชีแยกหนี้รัฐวิสาหกิจ สะท้อนหนี้ที่แท้จริงของประเทศ

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมารับฟังแผนการดำเนินงานทิศทางและการดำเนินงานบริหารหนี้สาธารณะของ สบน.โดยจะเน้นการบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุกและเพิ่มบทบาทในการบริหารเงินคงคลังให้เกิดประสิทธิภาพสอดคล้องกับการบริหารการคลังที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้มีการมอบหมายให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ไปหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อหาทางแก้ไขกฎหมายการบริหารเงินคงคลังให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลังฝากเงินคงคลังไว้ในบัญชีที่ 1 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยไม่ได้รับดอกเบี้ย หากสามารถแก้ไขให้ไปฝากในบัญชีที่มีผลตอบแทนอย่างน้อย 1% จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 3 พันล้านบาท เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น

“การบริหารเงิรคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ควรจะให้เกิน 1 แสนล้านบาท แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและสอดคล้องกับการบริหารการคลังที่ยั่งยืน จึงมีการขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เงินก้อนนี้เกิดประโยชน์ดีกว่าทิ้งไว้ไม่มีผลตอบแทนใดๆ เกิดขึ้น” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

สำหรับภาระหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริง สบน.อยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบการลงบัญชีใหม่เนื่องจากหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่เป็นวงเงินที่สูงและเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพทางการเงินสูงสามารถบริหารจัดการ เช่น บมจ.การบินไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท.เป็นต้น เพื่อให้สะท้อนถึงหนี้สินที่แท้จริงของรัฐบาล

โดยในอนาคตหากมีการตกลงวิธีการลงบัญชีเสร็จการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีศักยภาพดังกล่าวอาจไม่มีการค้ำประกันจากรัฐบาลอีกต่อไป และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการด้วยวิธีนี้จะช่วยให้การบริหารหนี้ของรัฐบาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเข้าสู่การบริหารการคลังอย่างยั่งยืนได้

“การทำงานของ สบน.ต่อไปจะบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากการระดมทุนของรัฐบาลเพื่อบรรเทาความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจสู่การเป็นผู้พัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น