ผู้ใช้รถเตรียมใจล่วงหน้า หลังบอร์ด กบง.แจงกองทุนน้ำมัน 7,000 ล้านบาท ใกล้ร่อยหรอ โดยอุดดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ “รมว.พลังงาน” ชง 2 มาตรการแก้สถานการณ์ แนะหั่นภาษีสรรพสามิตและขยับเพดานตรึงราคา ด้าน “เชลล์” แข็งข้อ ไม่สนนโยบายรัฐ ขายดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท ขณะที่ “ปตท.-บางจาก” ขาย 29.99 บาทต่อลิตร
วันนี้ (5 มี.ค.) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.เปิดเผยว่า จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มอีกลิตรละ 50 สตางค์ จากของเดิมที่ชดเชยอยู่ลิตรละ 4.50 บาท เป็นลิตรละ 5 บาท เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้ผู้ค้าน้ำมันขายได้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (5 มี.ค.) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การปรับเพิ่มอัตราชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเป็นลิตรละ 5 บาท มีผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกวันละ 302 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 9,054 ล้านบาท โดยตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553-4 มีนาคม 2554 กองทุนน้ำมันฯ ได้ชดเชยพยุงราคาน้ำมันดีเซลไปแล้วประมาณ 9,026 ล้านบาท และปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะกองทุนสุทธิประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีการนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อดำเนินการหาแนวทางแก้ไขต่อไป
“ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีภาระต้องชดเชยทั้งเอ็นจีวีเดือนละ 400 ล้านบาท และการนำเข้าแอลพีจีประมาณเดือนละ 1,500-2,000 ล้านบาท รวมทั้งชดเชยให้แท็กซี่เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวีด้วย เมื่อรวมกับภาระการชดเชียดีเซลที่ต้องใช้เงินเดือนละ 9,054 ล้านบาทแต่เงินกองทุนน้ำมันฯ เหลืออยู่ 7,000 ล้านบาท และจะใช้ได้เพียงสิ้นเดือนมีนาคมเท่านั้น จึงเตรียมเสนอยกรัฐมนตรีเรียกประชุม กชพ.เพื่อหาแหล่งเงินช่วยดูแลเพิ่มเติม หากต้องการตรึงราคาไม่ให้กระทบต่อประชาชน” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.วรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทำให้น้ำมันดิบทั้งตลาดเวสต์เทกซัสขยับขึ้นมาอยู่ที่ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และเบรนต์ อยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากความรุนแรงยังมีต่อเนื่อง อาจทำให้น้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น ประชาคมโลกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไปอีก ทุกประเทศจึงหาทางเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายราคาน้ำมันอาจจะคลี่คลายลงได้เมื่อทุกประเทศร่วมกันเข้าไปแก้ปัญหา
“ตามหลักการเมื่อไม่สามารถหาทางเพิ่มเงินกองทุนน้ำมันได้ ก็ต้องลดภาระลง เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันติดลบ ซึ่งก็มีอยู่ 2 แนวทางเท่านั้น คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิตกับการปรับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้แนวทางใด เพราะเรื่องนี้ต้องหารือใน กพช.” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ในที่ประชุม กบง.ครั้งที่ผ่านมา ได้ให้ สนพ.ทำข้อมูลและศึกษาแนวทางรองรับกรณีเงินกองทุนน้ำมันฯ หมดลง เพื่อเสนอข้อมูลต่อ กพช.เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาระการชดเชยของเงินกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มตาม จนเหลือสุทธิอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ได้อีกประมาณ 23 วันเท่านั้น จึงจะต้องตัดสินใจในที่ประชุมกพช.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ขณะที่ นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เชลล์ยังไม่ลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมาที่ 30 บาทต่อลิตร ตามนโยบายรัฐบาล แม้ว่า กบง.จะมีมติให้ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับต่ำคืออยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร สำหรับราคาขายปลีกราคาน้ำมันดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 30.49 บาทต่อลิตร ขณะที่ ปตท.และบางจาก ตรึงราคาดีเซลอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร
“เชลล์ยังไม่รับประมาณการราคาสถานการณ์ราคาน้ำมันของบริษัทในปีนี้ ยังคงไว้ที่ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นเดิม ซึ่งเป็นตัวเลขที่โอเปกใช้ในการคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้เป็นสถานการณ์ระยะสั้น” นางพิศวรรณ กล่าว