ตลท.สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบปี 53 สาเหตุที่หุ้นไทยปรับตัวลดลงมาจากนักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และการเคลื่อนย้ายเงินทุน ส่วนการระดมทุนในรูปตราสารทุนเดือน ม.ค.บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งสิ้น 1,307.72 ล้านบาท
วันนี้ (9 ก.พ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์และการซื้อขายหลักทรัพย์ ประจำเดือน ม.ค. 54 ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ปิดที่ 964.10 จุด ปรับตัวลดลง 6.65% จากสิ้นปี 53 สาเหตุสำคัญจากผู้ลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในปี 53 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) และเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
โดยการลดลงของราคาหลักทรัพย์ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ลดลงมาอยู่ที่ 7,811,177 ล้านบาท และอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน ม.ค.54 ปรับลดลงเป็น 11.48 เท่าจาก 14.55 เท่า ณ สิ้นปี 53
ส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ SET และ mai เพิ่มขึ้นเป็น 36,003.79 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89.23% จากเดือนม.ค.53 และเพิ่มขึ้น 12.06% จากเดือนก่อน สำหรับปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันในตลาดอนุพันธ์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ Gold Futures ขนาด 10 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,925 สัญญา ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขาย
ขณะที่ ในเดือน ม.ค.54 ดัชนีหลักทรัพย์รายอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทุกกลุ่มเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ ปรับตัวลดลงมากกว่าการลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ในจำนวนนี้ดัชนีหลักทรัพย์ของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมปรับลดลงมากที่สุดถึง 16.06% ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว อยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่ดัชนีหลักทรัพย์ของกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ราคาหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ของ SET และ mai ปรับลดลง โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ SET มีมูลค่า 7,811,177 ล้านบาท ลดลง 6.28% จากสิ้นปี 53 ขณะที่ของ mai อยู่ที่ 54,149 ล้านบาท ลดลง 1.78% จากสิ้นปี 53 นอกจากนี้ อัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (forward P/E ratio) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ณ สิ้นเดือนม.ค.54 ปรับลดลงเป็น 11.48 เท่าจาก 14.55 เท่า ณ สิ้นปี 53แต่ อัตราเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) ของ SET และ mai ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยอยู่ที่ระดับ 3.82% และ 4.33% ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันในเดือน ม.ค.54 ของ SET และ mai อยู่ที่ 36,003.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.23% จากเดือน ม.ค.53 และเพิ่มขึ้น 12.06% จากเดือนก่อน โดยผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิด้วยมูลค่า 28,680 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขาย 25.11% ของมูลค่าซื้อขายรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2553 ที่ 18.40% ขณะที่ผู้ลงทุนบุคคลเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 35,889.95 ล้านบาท หลังขายสุทธินาน 3 เดือน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 53
หากพิจารณาตามหมวดอุตสาหกรรมพบว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในหมวดธนาคารเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่น โดยเพิ่มจาก 15.09% ในเดือนก่อน เป็น 22.16% ของมูลค่าซื้อขายรวม นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าซื้อขายแยกตามกลุ่มหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ในเดือน ม.ค.54 พบว่า ผู้ลงทุนสนใจซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.06% ของมูลค่าซื้อขายรวม จาก 31.19% ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในหมวดธนาคาร และหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค
ตลาดอนุพันธ์ในเดือน ม.ค.54 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวม 26,573 สัญญา เพิ่มขึ้น 22.40% จากเดือนก่อนซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากทุกผลิตภัณฑ์หลัก โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันของ Gold Futures ขนาด 10 บาท เพิ่มขึ้น 44.87% ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น และเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขาย ตามด้วย SET50 Index Futures ที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันปรับเพิ่มขึ้น 24.44% จากเดือนก่อน
การระดมทุนในรูปตราสารทุนในเดือน ม.ค.54 ของบริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนทั้งหมด 1,307.72 ล้านบาท โดยการระดมทุนในตลาดแรกมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนเข้าใหม่ 1 กองทุน คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) มูลค่าระดมทุน 4,094 ล้านบาท ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง 9,214 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสตรี (STA) มูลค่าระดมทุน 8,120 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจยางพาราและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท