xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คาด ศก.ไทยปีนี้ยังขยายตัวได้ 3-5% เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ประเมินแนวโน้ม ศก.ปีนี้ ยังขยายตัว 3-5% ตามที่คาดการณ์เอาไว้ เผยปี 53 ศก.โตได้ 8% สุงเกินคาด ท่ามกลางวิกฤต ศก.โลก และปัญหาการเมือง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมระบุ มาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อให้เบาลง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2554 โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3-5

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 สูงถึงร้อยละ 8 แม้ว่าจะประสบกับปัญหาการเมือง และภัยธรรมชาติ สะท้อนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นแรงส่งไปยังเศรษฐกิจปี 2554-2555 ให้ขยายตัวในระดับปกติ

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5-4.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับราคาสินค้า รวมถึงต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่า จะเฉลี่ยร้อยละ 2-3 ตามแรงส่งจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและแนวโน้มราคากลุ่มพลังงานและอาหารสด แต่จะชะลอลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐได้ต่อมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าอย่างไม่มีกำหนด

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เบี่ยงเบนไปจากประมาณการ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกลดลง การเมืองภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

นายไพบูลย์ ยังชี้แจงถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 และเดือนมกราคม 2554 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจาก กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะสูงขึ้นในระยะต่อไป

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เกินเป้าหมาย และดำเนินนโยบายโดยใช้กลไกของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะรักษาระดับเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ได้

ส่วนค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เชื่อว่า ค่าเงินบาทยังสะท้อนเศรษฐกิจตามความเป็นจริง และไม่ได้แข็งค่ามากอย่างที่กังวลในช่วงก่อนหน้านี้ว่าจะแข็งค่าไปที่ระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ของสหรัฐฯ ที่อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ จนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2554 ขณะนี้ได้อัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เห็นได้ว่าส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแล้ว จึงอาจจะต้องมีการประเมินว่าจะใช้เม็ดเงินถึง 6 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น