xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเงินเฟ้อดันดอกเบี้ยขยับ บอนด์สั้นจ่อรับเงินกองเกาหลี2แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาสา อินทรวิชัย
ผู้จัดการกองทุนฟันธง 12 ม.ค. นี้ อาร์/พีขยับอีก 0.25% หลังเงินเฟ้อเร่งตัวแรงขึ้น ทั้งปัจจัยในประเทศและแรงกดดันจาก QE2 ชี้กระตุ้นกองบอนด์ระยะสั้นขายดี จ่อรับเงินกองเกาหลีกว่า 2 แสนล้าน

นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 12 มกราคมนี้ เชื่อว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีขึ้นอีก 0.25% แน่นอน หลังจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4% จาก 1% ในเดือนก่อนหน้านั้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (QE2) ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้กองทุนตราสารหนี้ในประเทศระยะสั้น จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น ประกอบกับปีนี้เอง เงินที่ออกไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มูลกว่ากว่า 2 แสนล้านบาท กำลังจะครอบอายุและทยอยกลับมา ดังนั้น เงินเหล่านี้ก็จะหาแหล่งลงทุนใหม่ ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว จึงน่าจะทำให้กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น

"ปีนี้เองเงินจากกองทุนเกาหลีจะครบอายุกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้เงินเหล่านี้ มองหาช่องทางการลงทุนต่อ ซึ่งการที่แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ก็น่าจะทำให้กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น พวกตั๋วเงินของสถาบันการเงิน ตั๋วเงินคลัง ได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ในปีนี้เอง นักลงทุนอาจจะต้องติดการลงทุนในหุ้นเอาไว้ด้วย เพราะหากลงทุนหาผลตอบแทนจากตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวอาจจะเหนื่อยหน่อย"นายอาสากล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในภาพรวม นายอาสา กล่าวว่า วันทำการแรกของปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ เข้ามาประมูลซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนเองยังรอความชัดเจนในเรื่องของมาตรการทางภาษีที่ทางการอาจจะนำมาใช้เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน

อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากนี้ไป เงินลงทุนเหล่านี้ จะยังไหลเข้ามาลงทุนในประเทสไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยที่ไทย มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ ซึ่งทุนสำรองดังกล่าว เติบโตขึ้นมาจากตัวเลขดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา สูงกว่าการนำเข้า

ทั้งนี้ การที่ไทยมีทุนสำรองในระดับที่ค่อนข้างสูงดังกล่าว จะทำให้เงินลงทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปสู่การแข็งค่าของเงินบาท โดยในปีนี้เอง ประเมินว่าค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าในระดับ 10% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

"ปีที่แล้วค่าเงินบาทไทยเริ่มต้นปีที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะขยับลงไปแข็งสุดที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือแข็งค่าประมาณ 12-13% แต่หลังจากมีกระแสเงินไหลออกไปบ้างทำให้ทั้งปีที่ผ่านมาค่าเงินกลับมาแข็งค่าที่ 10%"นายอาสากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น