xs
xsm
sm
md
lg

คลังจี้ ธปท.ตรวจสอบค่าธรรมเนียมแบงก์ ห่วง ปชช.จ่ายอ่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง เตือน ธปท.ตรวจสอบค่าธรรมเนียมแบงก์ รายได้โตมากกว่าสินเชื่อ เพราะข้อเท็จจริงการแข่งขันของระบบธนาคารไทยมีไม่มาก ยังมีการแข่งขันที่กระจุกตัว และมีการใช้อำนาจทางการตลาดสูง ห่วงผู้บริโภคเสียเปรียบ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงมาก และสูงมากกว่าเมื่อเทียบธนาคารในกลุ่มภูมิภาคเอเซีย สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีธุรกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อ ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับตลาดทุน ประกันภัย ประกันชีวิต

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะสนับสนุนการเพิ่มความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น หลังจากพบว่าในปีที่ผ่านมา สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง แต่กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งหากพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องระดับการแข่งขันของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีไม่มาก ยังมีการแข่งขันที่กระจุกตัว และมีการใช้อำนาจทางการตลาดสูง ซึ่งกังวลแทนผู้บริโภคที่อาจเสียเปรียบได้

"กังวลแทนผู้บริโภคที่การแข่งขันในระบบธนาคารยังกระจุกตัว มีการใช้อำนาจทางการตลาดสูง เพราะรายได้ที่สูงไม่ใช่จากการปล่อยกู้ เพราะอาจมีการใช้อำนาจการตลาดทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ ซึ่งแบงก์ชาติก็ต้องติดตาม ซึ่งในฐานะผู้กำกับดูแล ก็ต้องดูว่ารายได้ที่สูงขึ้น ผู้บริโภคเสียเปรียบหรือไม่"

โดยวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง "มุมมองอนาคตในวงการการเงินการธนาคารในประเทศไทย" ในงานไฟแนนซ์ไทยแลนด์ 2010 โดยระบุว่า ความท้าทายของไทยในขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ การแข่งขันของภาคธนาคาร ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจะไม่แทรกแซงการทำงาน แต่จะให้ ธนาคารเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาการทำกำไรของธนาคารเป็นไปได้ดี แต่อยากให้ ธปท.เข้ามาควบคุมดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ เนื่องจากพบว่า ในปี 2552 ฐานลูกค้าของธนาคารไม่เติบโต แต่รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น

อีกประเด็นคือระบบราชการ ที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง ที่จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และ ประเด็นสุดท้าย คือการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนแทนภาครัฐ ขณะเดียวกันจะสนับสนุนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐในลักษณะของการร่วมทุน (PPP) และการเร่งให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการเบิกจ่ายงบลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ รัฐบาลจะสร้างความชัดเจนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งด้านโทรคมนาคม ท่าเรือ ระบบราง สนามบิน เพื่อให้นักลงทุนวางแผนการลงทุนได้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น