ครม.ไฟเขียว อสส. ยื่นศาลปกครอง 1-2 วันนี้ เพื่อเดินหน้าสร้าง รง.มาบตาพุดได้ โดยภาคเอกชนยอมรับความเสี่ยงเอง แต่ยังไม่เปิดเดินเครื่องจนกว่าจะดำเนินการตาม รธน.มาตรา 67 เรียบร้อยแล้ว และต้องรอผล "EIA-HIA" รวมถึงองค์การอิสระ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมได้มีมติให้อัยการสูงสุด ดำเนินการยื่นร้องต่อศาลปกครอง กรณีคำสั่งระงับโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อให้สามารถก่อสร้างต่อได้ โดยภาคเอกชนยินดีที่จะรับความเสี่ยงในการก่อสร้างต่อ แม้อาจจะไม่ได้ประกอบการ
"วันนี้จะให้ทางอัยการทำหน้าที่เพื่อร้องต่อศาลในเรื่องการก่อสร้าง หมายความว่า ให้ศาลกรุณาชี้ว่าให้สามารถก่อสร้างได้ แต่ยังไม่ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันนี้หยุดหมด และภาคเอกชนต้องพร้อมจะรับความเสี่ยง อัยการร่างคำร้องไว้แล้ว คงจะยื่นได้ภายใน 1-2 วันนี้"
รายงานระบุว่า อัยการเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อขอให้โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกสั่งระงับสามารถเดินหน้าก่อสร้างต่อไปได้ แต่จะยังไม่เปิดเดินเครื่องจนกว่าจะดำเนินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ทั้งการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) รวมทั้งสอบถามความเห็นจากองค์การอิสระ ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงเอง
ในส่วนของ 30 โครงการที่ถูกระงับนั้น พบว่ามี 6-7 โครงการที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนของศาลแล้ว แต่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงมาตรา 67 วรรค 2 ได้เลย ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า มีตัวเลขคนตกงานสูงถึง 10,000 คน จากกรณีมาบตาพุดที่ถูกระงับนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเสริมว่า ตนเองได้รับการบ้านสรุปผลงาน จากรัฐมนตรีครบทุกกระทรวงแล้ว โดยจะนัดมาหารือเป็นกลุ่ม แต่ไม่ได้มีการประเมินว่า รัฐมนตรีคนใดสอบผ่านบ้าง เพราะต้องการแต่การกำหนดทิศทางปีหน้าให้ดีขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมในการแก้ปัญหามาบตาพุด โดยระบุว่า รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ-พัฒนาอุตสาหกรรม และไม่ต้องการให้ประชาชนแบกรับภาระหรือความเดือดร้อน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวม และขณะนี้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ในการทำหน้าที่จัดทำประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้โครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่สามารถทำการวิเคราะห์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลกระทบในเชิงสุขภาพ รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการได้ความเห็นจากองค์การอิสระ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้นำเรื่องที่เป็นปัญหาทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม ครม. ชี้ให้รัฐบาลได้เห็นชัดเจนว่าปัญหาการไม่เคารพผังเมือง ซึ่งวางไว้ตั้งแต่ต้นทำให้เกิดปัญหา ทำให้แก้ไขได้ยาก นำไปสู่ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อาทิ เรื่องขยะ เรื่องการมีน้ำใช้ และปัญหา ผลกระทบในเรื่องของสุขภาพ
ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลให้ความสนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้อนุมัติงบกลาง (งบเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน) จำนวน 877 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อดูแลสุขภาพให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการดูแลปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ยังไม่เพียงพอ
"สารพิษจากภาคอุตสาหกรรม ที่เกิดขึ้นในบางครั้งจากอุบัติเหตุบ้าง เกิดจากการสูดดมของสารพิษจนเกิดผลกระทบบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องมีสถานที่ในการดูแลรักษา มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญด้านสารเคมี มีการตรวจสุขภาพประชาชนที่ทำงานด้านสารพิษโดยตรง"
ทั้งนี้ หน่วยงานจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกด้วยการแก้ไขปัญหา คือการเข้าไปเฝ้าระวังตรวจสุขภาพพี่น้องประชาชนที่มีปัญหาแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะทำให้ง่ายต่อการแก้ไขและสามารถแก้ไขปัญหาและทำให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องเจ็บป่วยถึงขั้นรุนแรง ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ทำหน้าที่สำคัญในการสื่อสาร เพื่อนำข้อมูลไปบอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินโครงการตรวจสุขภาพทำงานแบบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องให้ข้อมูล ทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิตสิ่งของที่ใช้อยู่ในโรงงานมีอะไรบ้าง เวลาเกิดปัญหาจะได้แก้ไขปัญหา และทำการรักษาพยาบาลได้ถูกต้อง ถูกจุดอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหารุนแรงขึ้น การทำงานในเชิงรุกไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ รัฐบาลถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายในเรื่องของการพัฒนาทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าเราต้องการสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชน ในอดีตอาจจะเคยคิดว่าการสร้างความผาสุก สร้างด้วยการเร่งกระบวนการพัฒนาที่นับออกมาเป็นตัวเงิน แต่ในปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศคงจะมีความชัดเจนแล้วว่านั่นไม่ใช่คำตอบ
"การพัฒนายังจำเป็น เราต้องการเพิ่มรายได้ เราต้องการสร้างงานสร้างอาชีพ แต่ต้องทำในลักษณะที่สมดุลกับผลที่เกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน"
สำหรับในส่วนของรัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาบนความสมดุลและเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลได้ผลักดันโครงการทางด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา และการทำงานร่วมกับท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้