บอร์ดการบินไทยอุ้ม “วัลลภ” แม้ผลสอบผิดขนกระเป๋าน้ำหนักเกิน แต่เอาผิดไม่ได้ สุดท้ายแก้เกี้ยวสั่งเรียกค่าเสียหายแทนจิ๊บจ๊อยทั้งคณะแค่ 200,000 บาท พนง.ระดับล่างผวารับกรรมแทนนาย หลังคำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัย ”ปิยสวัสดิ์” รับข้อเสนอปรับระเบียบเรื่องสิทธิพิเศษ โชว์มือเติบควัก 1.2 พันล้านบาท จ่ายโบนัสครึ่งเดือน-ขึ้นเงินเดือน 4%
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (15 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีขนกระเป๋าสัมภาระในเที่ยวบินที่ TG 677 เส้นทาง โตเกียว-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2552ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ซึ่งสรุปว่า มีการขนสัมภาระน้ำหนักเกินจากสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามระเบียบของบริษัท และทำให้บริษัทเสียหายจากการสูญเสียรายได้ โดยมีมติให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัท ตรวจสอบการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 200,000 บาท หรือค่าปรับประมาณ 20 เหรียญต่อกิโลกรัม
ซึ่งกรณีของนายวัลลภ พุกกะณะสุต บอร์ดเห็นว่า นายวัลลภได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ จึงไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งกรรมการอีกจึงให้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่มีสัมภาระเกินกว่าน้ำหนักสัมภาระตามสิทธิ และ ให้นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยตามระเบียบบริษัท กับผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีมีการแก้ไขตัวเลขน้ำหนักสัมภาระให้ลดลง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต และบอร์ดมีมติให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ คือ 1.กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับการแจ้งจำนวนสัมภาระและน้ำหนักให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้โดยสะดวก 2. ต้องกำหนดกฎระเบียบ เกี่ยวกับการดูแลลูกค้า VIP ให้ชัดเจนว่าเป็นบุคคลกลุ่มใดบ้าง 3. ควบคุมและเคร่งครัดในการปรับระบบการลงข้อมูลน้ำหนักสัมภาระในฐานข้อมูล
4.ควรทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ช่องทาง Lost and Found เป็นช่องทางสำหรับสัมภาระที่ไม่ได้เดินทางมาถึงพร้อมกับผู้โดยสาร แต่ส่งตามมาภายหลัง และต้องผ่านการตรวจค้นของศุลกากรทุกกรณี 5. ปรับปรุงการทำงานของบริษัทฯ และทำการประชาสัมพันธ์ โดยให้คำยืนยันว่าบริษัทฯ จะดูแลลูกค้าตามระเบียบให้ดีที่สุด
“ระเบียบเดิมค่อนข้างกว้าง การปรับปรุงเพื่อระบุให้ชัดเจน ทั้งการดูแล และวิธีการเพื่อความคล่องคัว ว่า หากจะต้องขอสิทธิพิเศษจะต้องดำเนินการอย่างไร ในระบบและขั้นตอนการอนุมัติจะต้องรายงานถึงใครอย่างไร”นายอำพนกล่าว
นายอำพนกล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายวัลลภ พุกกะณะสุต นางจารุวรรณ พุกกะณะสุต และนางพิมใจ มัตสุโมโต ได้นำสัมภาระมาเช็คอินรวม ( Pool Check-in) ภายใต้รหัส PL 0125 โดยมีสัมภาระ 30 ชิ้น น้ำหนัก 398 กิโลกรัม ขณะที่ได้รับสิทธิ์รวมกันที่ 170 กิโลกรัม จึงมีการขนสัมภาระเกินสิทธิ 228 กิโลกรัม ส่วนนายพฤทธิ์ บุปผาคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ แยกเช็คอินสัมภาระ 10 ชิ้น น้ำหนัก 113 กิโลกรัม จากสิทธิขนสัมภาระ 40 กิโลกรัม เกินสิทธิ์ 73 กิโลกรัม โดยไม่ปรากฏหลักฐานการอนุมัติน้ำหนักสัมภาระตามระเบียบบริษัทฯ
นอกจากนี้ยังพบมีการแก้ไขน้ำหนักสัมภาระภายหลังที่เครื่องบินออกไปแล้ว ของกลุ่มนายวัลลภจาก 398 กิโลกรัม เหลือ 198 กิโลกรัม และ 172 กิโลกรัม ส่วนของนายพฤทธิ์แก้ไข จาก 113 กิโลกรัม เหลือ 63 กิโลกรัม และ 51 กิโลกรัม แต่ยืนยันว่า การขนสัมภาระเกินไม่กระทบต่อความปลอดภัยทางการบินในเที่ยวบินดังกล่าวเนื่องจากยังมีความสามารถรับน้ำหนักเหลืออีกถึง 10,479 กิโลกรัม
“กรณีนายพฤทธิ์ สัมภาระที่เกิน 7 ชิ้น ยืนยันว่าไม่ใช่สินค้าเพื่อการพาณิชย์ แต่เป็นตัวอย่าง โค้ก 4 ลังของฝ่ายครัวการบินและผลไม้ 3 ลัง ถือว่าไม่มีเจตนา แต่ก็ต้องถูกปรับตามระเบียบ”นายอำพนกล่าวและว่า บอร์ดได้มีมติปรับลดสิทธิพิเศษเรื่องตั๋วฟรีของบอร์ดเหลือ 7 ใบ สำหรับเส้นทางในประเทศและ 7 ใบเส้นทางระหว่างประเทศ ซึ่งตลอด 8 เดือนของบอร์ดชุดนี้ใช้ไม่ถึง 30% ของสิทธิ์ที่ได้รับ ส่วนเบี้ยประชุมได้ปรับลดลง 1ใน 4 ทำให้ในปี 2552 จากที่บริษัทตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายของบอร์ดไว้ที่ 30 ล้านบาทแต่ใช้จริงไม่ถึง 50 %
**โบนัสครึ่งเดือน-ขึ้นเงินเดือน 4%
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยกล่าวว่า บอร์ดมีมติเห็นชอบจ่ายโบนัสประจำปี 2552 จำนวนครึ่งเดือน ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่าย 665 ล้านบาท และเห็นชอบปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานประจำปี 2553 อัตรา 4 % คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเห็นว่าพนักงานเสียสละในการช่วยลดค่าใช้จ่ายจนทำให้ผลประกอบการปี 2552 ดีขึ้น และพนักงานไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสในปี 2551 อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันธุรกิจการบิน ราคาน้ำมันและการเมืองในปี 2553 ยังไม่แน่นอน การจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นจึงต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ เห็นชอบการลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์และระบบสาระบันเทิงในเที่ยวบิน ( In-flight Entertainment ) ชั้นประหยัดของเครื่องบินโบอิ้ง B 777 จำนวน 8 ลำ วงเงิน 1,000 ล้านบาท ส่วนแผนลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่นั้นจะสรุปรายละเอียดในเดือนก.พ. โดยเบื้องต้น หากจำเป็นอาจจะมีการเช่าเครื่องบิน 2-3 ลำเพื่อเร่งนำเข้ามาเสริมในฝูงบินระยะสั้นที่ยังจัดซื้อไม่ได้ แต่ระยะยาวการจัดหาเครื่องบินโดยการซื้อคุ้มค่ากว่าการเช่า