xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินปี 53 เตือนภาวะผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินปี 53 ย้ำเอกชนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น รับมือความผันผวนตลาดการเงินปี 2553



นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ปี 2553 โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีอย่างต่อเนื่องและมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็จะสร้างแรงกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำก็จะน้อยลง เพราะที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยต่ำมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่ง ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-3 ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลกัน

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจเอเชีย จะทำให้ประเทศในแถบเอเชียเผชิญแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วกว่า การดำเนินโยบายการเงินจึงแตกต่างกัน และจะเป็นช่องว่างทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ดังนั้น ตลาดหุ้นในเอเชียจะปรับตัวขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเอเชียจะแข็งค่าขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาท ซึ่งนโยบายของ ธปท. ในการดูแลค่าเงินบาทจะเป็นไปตามกลไกตลาด และจะดูและไม่ให้ผันผวนมากเกินไปหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของเอกชน

นายบัณฑิต กล่าวว่า ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวต่อความผันผวนทางการเงินไม่ควรประมาท เพราะยังมีความไม่ชัดเจนในประเทศอุตสาหกรรมหลักว่าจะเปลี่ยนแปลงการผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อไร และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ทิศทางของเศรษฐกิจโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเพราะยังมีความเสี่ยง เนื่องจากอัตราการว่างงานของประเทศในอุตสาหกรรมหลักยังสูง โดยสหรัฐมีอัตราว่างงาน ร้อยละ 10 อังกฤษร้อยละ 7.9 ญี่ปุ่นร้อยละ 5.2 และฐานะการคลังของหลายประเทศอ่อนแอ หลังจากใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในต่างประเทศสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางธุรกิจปรับขึ้นด้วย และระบบธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศยังมีภาระหนี้เสีย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ โดยหากความเสี่ยงดังกล่าว มีมากขึ้น อาจทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของบ้างประเทศไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น