xs
xsm
sm
md
lg

"ตลาดบอนด์อาเซียน" เทรดได้แต่ต้องใช้เวลา-ปลดล็อกสกุลเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมตลาดตราสารหนี้ เดินหน้าเชื่อมตลาดบอนด์อาเซียน ทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้เวียดนาม และร่วมประชุมหารือกับสมาคมตราสารหนี้ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่มาเลเซีย เพื่อกระตุ้นการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างประเทศ ชี้ "ตลาดบอนด์อาเซียน" มีความเสี่ยง เทรดได้ยาก อาจต้องใช้เวลาพัฒนาไม่น้อยกว่า 5-10 ปี เพราะยังมีปัญหา-อุปสรรคเพียบ โดยเฉพาะความแตกต่างสกุลเงินแต่ละประเทศ ไม่เหมือนยุโรปที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงการพัฒนาขอบเขตตลาดซื้อขายตราสารหนี้ (บอนด์) ในระดับอาเซียน โดยระบุว่า ความคืบหน้าล่าสุด ไทยได้มีการไปสรุปโครงการเป็นที่ปรึกษาให้กับทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ของเวียดนาม (VBMA) ทั้งในด้านบทบาทในการเป็น SRO การจัดทำ Code of Conduct รวมทั้ง Market Convention ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการคำนวณราคาตราสารหนี้ให้ด้วย โดยได้มีการทำ Workshop ให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ในเวียดนาม

สำหรับบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาให้กับตลาดตราสารหนี้ของเวียดนามในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงว่าการดำเนินงานของ Thaibma เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของตลาดตราสารหนี้ไทยไปด้วย

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการจัดตั้งสมาคมตลาดตราสารหนี้ของไทยแล้ว ต้องถือว่าของไทยเราค่อนข้างที่จะราบรื่นและได้รับการสนับสนุนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่มีทุนตั้งต้นมาตั้งแต่แรกสมัยที่ยังเป็น ThaiBDC จากนั้นก็ยังมีกระทรวงการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะเข้ามาให้การสนับสนุน รวมทั้งยังได้รับรายได้จากการเป็นผู้ทำหน้าที่รับจดทะเบียนตราสารหนี้ กับสนับสนุนให้ทำหน้าที่ SRO จึงทำให้เรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสมาคมตลาดตราสารหนี้เวียดนามช่วงต้นคงต้องเน้นในเรื่องของการสร้างกฎระเบียบ มาตรฐานการทำงาน และการเป็นแหล่งข้อมูลไปก่อน

นายณัฐพล ยังกล่าวถึงภาพรวมตลาดตราสารหนี้ทั้วโลก โดยระบุว่า ปกติสมาคมตลาดตราสารหนี้จะมี 2 รูปแบบ คือหากเป็นตลาดตราสารหนี้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีรายได้จากสมาชิกมาดำเนินการ อย่างประเทศญี่ปุ่นตลาดมีวอลุ่มมหาศาล สมาคมก็สามารถเก็บค่าสมาชิกได้ในอัตราที่สูง เช่น บริษัทสมาชิกรายเดียวก็จ่ายค่าสมาชิกกว่าหลายร้อยล้านบาทสมาคมดีลเลอร์ของญี่ปุ่นจึงมีความเข้มแข็ง

สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ตลาดตราสารหนี้ยังไม่โตมาก วอลุ่มการซื้อขายยังไม่สูง ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งเงินสนับสนุน หรือให้ช่องทางในการหารายได้ในรูปแบบต่างๆ เพราะไม่สามารถเก็บค่าสมาชิกแพงๆได้

โดยในส่วนของไทยที่ตลาดตราสารหนี้เข้มแข็งได้นั้น ต้องถือเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ นอกจากมีเงินจากสมาชิกเป็นฐานตอนเริ่มต้นแล้ว ยังมีช่องทางรายได้จากการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ การขายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ จึงทำให้สามารถทำงานได้หลากหลายกว่า รวมทั้งสามารถหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานให้สมาคมเข้มแข็งได้ง่ายกว่า

นายณัฐพล กล่าวว่า นอกจากจะไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทางเวียดนามแล้วช่วงที่ผ่านมาก็ยังได้มีการไปประชุมร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ในภูมิภาคที่มี ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และทาง ก.ล.ต.ของประเทศมาเลเซียร่วมเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับเรื่องการทำส่งเสริมการซื้อขายตราสารหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของสมาคมตลาดตราสารหนี้แต่ละประเทศ

โดยในปี 2551 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ที่เป็น Local ของแต่ละประเทศนั้นโตมาก เพราะแบงก์ยังไม่ปล่อยกู้หรือระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมาก บอนด์ก็เลยโต แต่การซื้อขายข้ามประเทศยังทำได้ยาก เพราะภูมิภาคเรายังมีระดับการพัฒนาของตลาดบอนด์ที่แตกต่างกันมาก รวมทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินสกุลท้องถื่นในภูมิภาค ก็ยังมีความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ เพราะยังไม่มีสกุลเงินที่เป็นสกุลกลางเหมือนในยุโรป เมื่อสกุลเงินต่างกันทำให้มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น การซื้อขายข้ามประเทศในภูมิภาคเอเชียจึงยังเติบโตได้ยาก ในกรณีของภูมิภาคเอเซียคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี 10 ปี ในการพัฒนา Cross Border Trading
กำลังโหลดความคิดเห็น