xs
xsm
sm
md
lg

AFETเปิดยุทธศาสตร์ปี2553 ผุดสินค้าใหม่น้ำตาล-เอทานอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

AFET เปิดยุทธศาสตร์ปี53 เพิ่มสิ้นค้า ยางแท่ง น้ำตาล และเอทานอล หวังดึงดูดนักลงทุนเข้าตลาด หลังพบแนวโน้มวอลุ่มซื้อขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เตรียมขยายฐานลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมให้ข้อมูลการลงทุนแก่หน่วยงานภาครัฐที่สนใจ

นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เปิดเผยถึงถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดปี 2553 ว่า ผลการดำเนินงานในปี 2552 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายโดยรวมเฉลี่ยต่อวัน (จนถึงพฤศจิกายน) ประมาณ 886 สัญญาต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 601 สัญญาต่อวัน ร้อยละ 47.44

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ปริมาณการซื้อขายได้มีการขยายตัวอันเป็นผลมาจากการประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1,400 สัญญา เพิ่มขึ้นจากตอนต้นปีร้อยละ 259 โดยปริมาณการซื้อขายสูงสุดในปี 2552 คือวันที่ 29 ต.ค. 2552 อยู่ที่ 11,943 สัญญา

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2552 AFET ได้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการให้รัฐบาลใช้กลไกการซื้อขายล่วงหน้าในการระบายสินค้าในสต๊อกรัฐบาล โดยตั้งแต่สิงหาคมจนถึงปัจจุบันได้มีการระบายข้าวขาว 5% และข้าวหอมมะลิ จำนวนมากกว่า 700,000 ตัน นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขในข้อกำหนดการซื้อขายมันสำปะหลังเส้นล่วงหน้าเพื่อให้เหมาะแก่การที่รัฐจะใช้ในการระบายสต๊อกมันสำปะหลังที่มีอยู่

ขณะเดียวกันในด้านการจัดการให้เกิดความสะดวกในการซื้อขาย AFET ได้ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคหรือคอขวด (Bottle neck) ที่เกี่ยวข้องกับการชำระราคาให้มีความยืดหยุ่นแก่นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าเพื่อที่จะสามารถรองรับปริมาณการซื้อขายล่วงหน้าที่มากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับในปี 2553 AFET มีแนวทางในการพัฒนาโดยการดูแลปรับปรุง ข้อกำหนดการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อผู้ขายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ข้าว หรือมันสำปะหลัง ในส่วนของสัญญาล่วงหน้าใหม่นั้นขณะนี้กำลังพิจารณาถึงการนำข้าวเปลือกมาใช้ในการซื้อขาย รวมทั้งการจัดทำให้มีการซื้อขายล่วงหน้าที่มีการส่งมอบ FOB นอกจากนี้ AFET ยังได้มีการประสานงานกับทางสำนักงาน ก.ส.ล. ในการร่วมกันพัฒนาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มเติมในปี 2553 เช่น ยางแท่ง น้ำตาล และเอทานอล เพราะเห็นว่าสินค้าเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการซื้อขายล่วงหน้า

นายนิทัศน์ กล่าว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการสินค้าเกษตรมีความคุ้นเคยกับการซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้น ซึ่งเกิดจากการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้มีความหลากหลายในการใช้เครื่องมือในการลงทุนอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินค้าทางการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น AFET จะได้มีการขยายฐานลูกค้าในประเทศทั้งในระดับผู้ประกอบการและนักลงทุนให้เข้ามาใช้ AFET ให้มากขึ้น ทั้งนี้จากการที่มีภาครัฐเข้ามาใช้ประโยชน์ในการซื้อขายล่วงหน้าใน AFET AFET จึงได้จัดเตรียมการศึกษาเพื่อจัดทำ Business Model ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จาก AFET มากขึ้น นอกจากนี้ AFET จะได้ขยายฐานผู้ซื้อ-ผู้ขายต่างประเทศซึ่งในช่วงปี 2552 ที่ผ่านมาได้แสดงความสนใจในสินค้าหลายชนิดของ AFET ให้เข้ามาซื้อขายล่วงหน้าให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นตัวกำหนดแผนการทำงานของ AFET ในปี 2553 ที่จะกระตุ้นให้การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีความเติบโต สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังมีการฟื้นตัว ที่จะส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นที่จับตามองของนักลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาใช้ประโยชน์จาก AFET ได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล
กำลังโหลดความคิดเห็น