บิ๊ก ก.อุตฯ สั่งทบทวนการจัดทำแผนฉุกเฉินโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยพุ่งเป้ากลุ่มปิโตรเคมี พร้อมกำหนดให้มีการลำดับการรายงานเหตุอย่างเป็นระบบ-มาตรฐานสากล โดยต้องระบุว่า เมื่อเกิดเหตุผู้ใดต้องเป็นผู้รายงาน และต้องรายงานไปยังใครบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เหตุการณ์สารเคมี "บิวเทน 1" รั่วจากท่าเรือนิคมฯ มาบตาพุด
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนเองได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทบทวนการจัดทำแผนฉุกเฉินโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยพิจารณาว่า มีโรงงานประเภทใดต้องมีแผนฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานปิโตรเคมี
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตนได้ให้มีการลำดับการรายงานเหตุอย่างเป็นระบบมาตรฐานสากล โดยต้องระบุว่า เมื่อเกิดเหตุผู้ใดต้องเป็นผู้รายงาน และต้องรายงานไปยังใครบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เหตุการณ์สารเคมีรั่วจากเรือเหมือนที่ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
สำหรับสารบิวเทน 1 รั่วจากเรือขนส่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตฯ ได้ตรวจสอบการทำงานของ กนอ.แล้วพบว่าถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนสาเหตุความล่าช้า น่าจะมาจากการไม่ทราบแผนปฏิบัติฉุกเฉินว่า ควรจะต้องรายงานใครบ้าง
"วันนี้ ผมได้สั่งการให้ กรมโรงงานฯ และ กนอ. ส่งหนังสือให้ 65 โครงการในมาบตาพุด ระงับการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เรียบร้อยแล้ว"
อย่างไรก็ตาม หากโรงงานใดไม่สามารถหยุดเดินเครื่องได้ทันที เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย ก็ขอให้รายงานมายังหน่วยงานที่ดูแล เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขและหาทางออกที่เหมาะสม
ส่วนการสำรวจวิเคราะห์ผลกระทบต่อโครงการที่ถูกสั่งระงับทั้ง 65 โครงการนั้น ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กนอ. ร่วมกันกำหนดแบบฟอร์มสอบถามผลกระทบจากผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ คาดว่า แบบฟอร์มดังกล่าว จะเสร็จวันที่ 11 ธันวาคม 2552 นี้ จากนั้นจะให้กระทรวงพลังงานให้ความเห็นชอบและเดินหน้าสำรวจ คาดว่าจะส่งผลสำรวจให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในการประชุมวันที่ 15 ธันวาคม 2552 นี้