xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ขึ้นราคาแอลพีจี เซ่นมาบตาพุด ชาวบ้านซวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.พลังงานขู่อาจต้องทบทวนแผนตรึงราคาแอลพีจีถึงส.ค.53ก่อนกำหนด หากโรงแยกก๊าซฯ6ปตท.ถูกระงับกิจการจริง อ้างไม่ต้องการเห็นฐานะกองทุนน้ำมันฯติดลบแล้วต้องกู้เงินมาโปะซ้ำรอยประวัติศาสตร์เดิม

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการหารือถึงผลกระทบกรณีมาบตาพุดต่อกิจการด้านพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบมจ.ปตท. ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึงโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6ของปตท.ว่าจะเข้าข่ายถูกระงับกิจการหรือไม่หากถูกระงับจะมีผลกระทบต่อการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ที่สูงขึ้นซึ่งจะกระทบฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องเข้าไปชดเชยส่วนต่างราคาที่อาจทำให้ฐานะกองทุนติดลบได้ดังนั้นหากมีปัญหาดังกล่าวจริงกระทรวงพลังงานก็อาจจำเป็นจะต้องทบทวนโครงสร้างราคาแอลพีจีที่นโยบายรัฐบาลตรึงไว้จนถึง ส.ค.2553

“คงจะต้องดูผลของคณะกรรมการ4ฝ่ายว่าจะมีมาตรการที่ใช้เวลามากน้อยเพียงใดเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 (2) รัฐธรรมนูญปี 50รวมถึงความชัดเจนคำสั่งศาลว่าโรงแยกก๊าซฯ6เข้าข่ายถูกระงับกิจการด้วยหรือไม่เป็นสำคัญเพราะเราไม่อยากให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบจนต้องไปกู้เงินมาชดเชยซ้ำรอยประวัติศาสตร์หากเป็นเช่นนั้นเราอาจจำเป็นต้องมาทบทวนแผนการตรึงราคาแอลพีจีก่อนกำหนดก็ได้หรืออาจไม่สามารถต่ออายุมาตรการต่อไปอีก”รมว.พลังงานกล่าว

อย่างไรก็ตามได้กำหนดมาตรการไว้ล่วงหน้าหากเกิดระงับโรงแยกก๊าซฯ6จริงประกอบด้วย 1. ผลการระงับกิจการจะทำให้ต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มสูงถึงเดือนละ 1 แสนตันแต่คลังที่เขาบ่อยารับได้เพียง 8.8 หมื่นตันจึงจะพิจารณาทำคลังลอยน้ำในทะเล(Floating Storage) 2. ให้โรงแยกก๊าซหน่วยอื่นๆ ที่เลื่อนการหยุดซ่อมประจำปีออกไป ซึ่งจากการประเมินราคาแอลพีจีตลาดโลกปี 2553 คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ระดับ 700 เหรียญต่อตันจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯจะต้องจ่ายชดเชยแอลพีจีนำเข้าเดือนละ 1,400 ล้านบาทหรือ1.6หมื่นล้านบาทในปี 2553ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯติดลบ

ก.อุตฯ ชงผลกระทบ ครม.วันนี้

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้(15 ธ.ค.) กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำข้อมูลเกี่ยวกับสถานะ 65 กิจการที่ถูกระงับกิจการ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายหลังให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)เป็นหน่วยงานสำรวจตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้เป็นกรอบตัดสินใจในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานจะมีข้อสรุป 3 มาตรการตามแนวทางของมาตรา 67 รัฐธรรมนุญ 50 ประกอบด้วย 1.เรื่องประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรง 2.กรอบการทำ EIA ,HIA และ3.การรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติได้ทันทีเมื่อเริ่มต้นปี 2553

ปลัดฯ อุตฯ สั่งตรวจเข้ม EIA

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะ เดินทางมารับฟังบรรยายสรุปจากนายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผอ.สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง กรณีเกิดกลิ่นก๊าซบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าโกลว์ ถนนไอ.5 มีคนงานได้รับผลกระทบกลิ่นก๊าซนำส่ง รพ.มาบตาพุด รวม 6 ราย หลังหมอตรวจอาการให้การรักษาและให้กลับได้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กรณีเหตุการณ์ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานฯให้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ วันนี้มารับฟังข้อมูลเบื้องต้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ทางราชการไม่ได้นิ่งเฉย

"นโยบายจากนี้ไปโรงงานที่อยู่ในการนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้ทำรายงานผลกระทบ (EIA) และมีแผนว่าจะต้องปฏิบัติ อย่างไรบ้าง การนิคมอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเข้าไปเจาะลึกในรายละเอียด แต่ละโรงงานว่าต้องปฏิบัติข้อไหนอย่างไร ขณะเดียวกันภายใน 45 วัน จะให้การนิคมอุตฯและกรมโรงงานสรุปว่าโรงงานมี EIA ทั้งหมดกี่ราย แต่ละรายมีเงื่อนไขอะไรที่ต้องปฏิบัติ"

ด้านนายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซไฮโดรคาร์บอนด์หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก๊าซไฮโดรคาร์บอนด์ พื้นที่ที่อยู่เหนือสถานีเมืองใหม่ขึ้นไป คงไม่ใช่พื้นที่เป้าหมาย การแก้ไขปัญหาหลังจากนี้ชาวบ้านมีความวิตกว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้อีก ประชาชนอยากให้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังเฉพาะกิจขึ้นในพื้นที่ตลอด 24 ชม. ระยะเวลา 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะในอดีตที่ผ่านมา เคยตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ก็ไม่ค่อยจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก

**SCB ยันไม่ดึงเงินกู้'ปตท.-SCG'คืน

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ลงทุนในโครงการดังกล่าวคือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)PTT และเครือซิเมนต์ไทย(SCG) ซึ่งจากการพูดคุยกับลูกค้า ส่วนใหญ่มีความต้องการความชัดเจนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และนักลงทุนทุกรายพร้อมที่จะมีส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทำตามระเบียบกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด

"เราสนับสนุนลูกค้าของเราทุกด้าน เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ส่วนระยะยาวเชื่อว่าจะสามารถหาทางออกได้ และสินเชื่อที่เราปล่อยไป ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อโปรเจ็กต์และลูกค้าเราก็เป็นบริษัทใหญ่ ถามหน่อยบริษัทอย่างปูนซิเมนต์ หรือ ปตท. มีแบงก์ไหนบ้างไม่อยากได้ ถ้าเขายังเบิกใช้สินเชื่อเราก็พร้อมให้เบิก และเราไม่มีแผนดึงสินเชื่อกลับหรือระงับสินเชื่อ"นางกรรณิกา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น