xs
xsm
sm
md
lg

"ลงทุนเอกชน-อสังหาริมทรัพย์" ส่งสัญญาณชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายต่อหลายปัจจัยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในบ้านเราพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ที่หลายคนคาดการณ์ว่า หลังจากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น...ซึ่งความจริงแล้วควรจะเป็นเช่นนั้น หากแต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามอยู่ที่ประการเดียวเท่านั้น...

วันนี้ "ผู้จัดการกองทุนรวม" หยิบข้อมูลดีๆ จากฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ผูดถึงภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนและอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีมานำเสนอ

การลงทุนภาคเอกชน
- ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน เริ่มชะลอลงจากไตรมาสแรก โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเครื่องชี้ที่สำคัญคือ การนำเข้าสินค้าประเภททุน และการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ เพื่อทดแทนเครื่องมือเครื่องจักรเดิม และขยายกำลังการผลิต ขณะที่เครื่องชี้อื่นๆ เช่น ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลในไตรมาสนี้หดตัว ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณให้เห็นว่าดัชนีการลงทุนภาคเอกชนช่วงที่เหลือของปีจะเริ่มชะลอลง อันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่สูง

- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ระดับ 42.6 ลดลงจาก 45.9 ในไตรมาสก่อน สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อย สะท้อนว่าภาคธุรกิจยังขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นที่ภาคธุรกิจจะลงทุนในอนาคตก็เริ่มปรับตัวลดลง พิจารณาจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่อยู่ในระดับ 46.1 ลดลงจากร้อยละ 51.0 ในไตรมาสก่อน และต่ำกว่า 48.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นมาจากแนวโน้มอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ชะลอตัวลง ต้นทุนในการลงทุนที่ปรับตัวขึ้น ความไม่ชัดเจนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมือง

- เครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ที่ปรับตัวดีขึ้นคือ การนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 สินค้าทุนนำเข้าที่ขยายตัวสูงได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์ยานยนต์ โดยครึ่งแรกของปี 2551 นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จึงนับเป็นการขยายตัวที่สูง รองลงมาได้แก่ การจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ เพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมและขยายกำลังการผลิต โดยช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 2.7 สำหรับ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 5.7 เนื่องจากผู้ซื้อวิตกกับราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7

- เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัว โดย ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ ในประเทศ หดตัวร้อยละ 5.3 เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 นับจากต้นปี 2550 เนื่องจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัว ประกอบกับไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่เป็นตัวเร่งความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 25.3 สอดคล้องกับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัญหาราคาน้ำมัน และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนค่าก่อสร้าง

- เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนอื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นซึ่งขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และการจำหน่ายสังกะสีในประเทศ ส่วนเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เงินลงทุนของกิจการที่ขอรับ การส่งเสริมการลงทุน และเงินลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

- แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น และการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างในปัจจุบัน ส่งผลกระทบโดยตรงการลงทุนภาคเอกชนในโครงการต่างๆ แม้รัฐบาลจะพยายามใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุน เช่น การลดภาษีให้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหักค่าเสื่อมราคา รวมถึงมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนช่วงที่เหลือของปีจึงไม่สดใสนัก

การส่งเสริมการลงทุน

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 การขอรับส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนโครงการใกล้เคียงกับปีก่อน แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงถึงร้อยละ 13.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 39.7 ขณะที่กิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีเพียง 46 โครงการ มูลค่าเงินทุนรวม 139.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.7 และ 49.7 ตามลำดับ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป มี 46 โครงการ เงินลงทุน 139.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 47.7 และ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทุกหมวด ยกเว้น หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง

- ภาวะการลงทุนจากต่างประเทศ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 กิจการต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน มี 420 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 109.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุน 27.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3 เท่า รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน จำนวน 61 โครงการ เงินลงทุน 20.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ซึ่งแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์เป็นหลัก มูลค่าเงินลงทุน 10.6 พันล้านบาท

ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 กิจการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 385 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 150.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินทุนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุน 34.4 พันล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ เงินลงทุน 20.2 พันล้านบาท

อสังหาริมทรัพย์
ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ครึ่งแรกของปี 2551 ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์ ราคาวัสดุก่อสร้าง และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ลดลง ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เช่น การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ และการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ แต่คาดว่าจะไม่เกิดผลมากดังที่คาดไว้ และจะทำให้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มหดตัวต่อไป

- มูลค่าการซื้อขายที่ดินทั่วประเทศ ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 2.7 ขณะที่ ใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีจำนวน 4.7 พันหน่วย ลดลงร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2551 จะหดตัวจากปีที่ผ่านมา

- การขอจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มีการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ 9.6 พันหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขอจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6.1 พันหน่วย เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.5 ทั้งนี้เนื่องจากตลาดอาคารชุดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว มีเพียงอาคารชุดที่เกาะติดแนวรถไฟฟ้าเท่านั้นที่ยังเป็นที่นิยม เพราะสามารถตอบสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายในการเดินทาง และราคาไม่สูงจนเกินไป ปัจจุบันมีการเก็งกำไรอยู่บ้าง แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ต้องการที่อยู่อาศัย สำหรับอาคารชุดในต่างจังหวัดมีการขอจดทะเบียนจำนวน 3.5 พันหน่วย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 87.9 ขยายตัวมากในเขตท่องเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา หัวหิน สมุย และพัทยา และบริเวณใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม

- ที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่ม (เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 มีจำนวน 18.6 พันหน่วย ลดลงร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวทุกกลุ่มทั้งบ้านจัดสรร แฟลตและอาคารชุด และบ้านปลูกสร้างเอง ทั้งนี้เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องประสบกับภาวะราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล เช่น การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์ ไม่น่าจะช่วยให้ปริมาณที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ก่อนวันที่ 28 มี.ค. 52 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ได้แก่กลุ่มผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เมื่อ 1-2 ปีก่อนหน้าซึ่งปัจจุบันโครงการใกล้แล้วเสร็จ ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มือสอง และผู้ซื้อที่ดินเปล่า ยกเว้นรัฐบาลจะขยายระยะเวลาออกไป

- สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 มีจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 แบ่งเป็นสินเชื่อผู้ประกอบการ 3.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่เป็นสินเชื่อผู้ซื้อ 7.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 อย่างไรก็ตาม ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น น่าจะส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปีชะลอลง

ที่มา : ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

กำลังโหลดความคิดเห็น