xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงคลังชงลดภาษีโลกร้อน เสนอมาร์ค-BOI16พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มองอนาคต คลังช่วยลดภาวะโลกร้อน ชงสิทธิประโยชน์ภาษีให้อุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขายคาร์บอนเครดิตให้ต่างประเทศ เสนอเข้าประชุมบีโอไอที่มีนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ 16 พ.ย.นี้ ชี้เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้เข้าประเทศ พร้อมสรุปมาตรการปรับโครงสร้างภาษีรับเอฟทีเอ 1 ม.ค. 53 เพื่อให้ธุรกิจไทยและคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับบริษัทที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลก เพื่อออกเป็นมาตรการภาษีเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศึกษารูปแบบที่เหมาะสม โดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อไม่ให้มีข้อบกพร้องในทางปฏิบัติ เพราะหากให้สิทธิประโยชน์เกินไป จนทำให้ผู้ประกอบมุ่งเน้นรับผลประโยชน์ด้านภาษีมากกว่าที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และจะต้องออกมาเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ที่เหมาะสมขณะนั้นได้

โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะให้กับผู้ประกอบการ กำลังพิจารณาว่า จะยกเว้นเงินได้จากการขายคาร์บอนเครดิต แต่ก็จะเกิดปัญหาว่า จะหักเป็นรายจ่ายด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์ 2 ทาง หรือ นำรายรับมาหักภาษีได้ 2 เท่า หรือนำมาหักภาษีได้บางส่วนเท่านั้น ซึ่งในทางเลือกต่างๆ เหล่านนี้ จะทำเป็นข้อเสนอพร้อมข้อเสนอแนะให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังตัดสินใจ เพื่อนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ในเบื้องต้นมีบริษัทขนาดใหญ่ 2 แห่งได้เริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขายคาร์บอนเครดิตไปแล้ว

“เดิมบีโอไอเป็นคน ที่ดูในเรื่องนี้ เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ได้รับสิทธิบีโอไอ แต่เมื่อผมดูแล้ว จึงมาเริ่มที่กรอบใหญ่ว่า ต้องการให้เกิดขึ้นกับทุกองค์กรทั่วประเทศ หรือเฉพาะบริษัทที่ได้รับบีโอไอ เพราะหากต้องการเฉพาะบีโอไอ ก็อยู่ภายใต้กรอบบีโอไอ แต่เราเห็นว่าถ้าจะให้ทุกบริษัทเห็นความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจก ควรจะให้กรมสรรพากรเป็นผู้ดูแลเป็นระบบภาษีรวม ภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากร โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะหากสนับสนุนให้มีการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังดีต่อประเทศที่จะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย”

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่สศค.จะรีบดำเนินการศึกษาหาข้อสรุปอีกเรื่องคือ การปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนไปคือ ข้อตกลงเสรีทางการค้า(เอฟทีเอ) ทั้งกับกลุ่มอาเซียนและกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับอาเซียนหรือ อาฟตา ที่จะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งจะมีสินค้าหลายหมื่นรายการที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้อง กรมภาษี กรมเศรษฐกิจเองยังไม่ทราบชัดเจนว่า ใครได้ใครเสียและจะเตรียมความพร้อมรองรับอย่างไร เพราะอัตราภาษีกรมศุลกากรที่ลดลง จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศที่ต่อเนื่องทั้งภาษีสรรพาสามิตและสรรพากร

ซึ่งขณะนี้ธุรกิจสุราและยาสูบ มองว่าได้รับผลกระทบจากอาฟตามาก เพราะมีหลายบริษัทมาตั้งโรงงานในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อส่งสินค้ามาขายในไทยภายใต้ข้อตกลงอาฟตา หากเป็นเช่นนั้น สินค้าที่ผลิตในไทยก็จะเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากราคาขายปลีกมาเป็นการจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ลิตร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะมีผลกระทบต่อสุราขาว โดยเฉพาะสุราชุมชน ที่จะทำให้มีราคาสูงขึ้น จะไม่สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ซึ่งในฐานะทางการเองก็ต้องมองรอบด้าน หาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์และธุรกิจคนไทยต้องอยู่รอดได้ด้วย

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างภาษียังต้องทำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยจะต้องศึกษาดูว่า อัตราภาษีสูงสุดที่เหมาะสมของประเทศควรอยู่ระดับใด อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มควรเป็นเท่าใด ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาให้สิทธิประโยชน์กับสำนักงานตัวแทนบริษัทข้ามชาติในไทย(ROH) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้มาจัดตั้งในไทย เพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศ โดยต้องศึกษาดูรูปแบบที่ สิงคโปร์และมาเลเซียเอื้อประโยชน์ให้กับ ROH ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ปรับมาใช้ในไทยให้เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น