เวิลด์แบงก์แถลงตัวเลขการติดตามภาวะ ศก.ของไทย โดยเชื่อว่า ปี 52 จะติดลบ 2.7% ตามที่ประมาณการไว้ ส่วนแนวโน้มปี 53 จะเป็นบวก โดยจะโตได้ 3.5% ยืนยัน ศก.ไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่โอกาสที่จะกลับมาเติบโตในอนาคตยังไม่ชัดเจน เพราะสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกยังผันผวน
นายเฟรดเดอริโก เกล แซนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณที่จะฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.5 และในระยะกลาง 3-5 ปี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกหลายปัจจัย โดยระบุว่า เศรษฐกิจที่เผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาคการผลิตที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องลดการผลิตไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจภายนอกประเทศ เช่น จีน รวมทั้งประเทศในภูมิภาคอื่น จะช่วยให้ไทยและเอเชียตะวันออกได้รับอานิสงส์ให้สถานการณ์การผลิตดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกได้ประเมินว่า ภาคการส่งออกรวมของไทยในปี 2552 จะติดลบร้อยละ 14.1 แต่การประเมินสถานการณ์ขณะนี้ เชื่อว่า การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นมาติดลบที่ร้อยละ 12.7 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเสนอแนะให้ไทยลดการพึ่งการส่งออกในอนาคต เนื่องจากในระยะยาวเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป มีปัญหาก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
นายเฟรดเดอริโก กล่าวอีกว่า ธนาคารโลก ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่โอกาสที่จะกลับมาเติบโตในอนาคตยังไม่ชัดเจน เพราะสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกยังผันผวน จึงประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2553-2556 จะขยายตัวในระดับต่ำไม่ถึงร้อยละ 5 นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า การเมืองภายในของไทยจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยรวม โดยเฉพาะเห็นว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เบนเข็มไปประเทศอื่นแทน
ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้แนะนำภาครัฐให้กระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งจะช่วยสร้างความต้องการสินค้าในประเทศ และระดับภูมิภาคได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และระหว่างนี้ธนาคารโลกเสนอให้ภาครัฐเร่งรัดภาคเอกชน ขยายการลงทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค รวมทั้งภาครัฐต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตของภาคเอกชน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างงานให้ประชาชนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคระยะยาวได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังได้อิทธิพลจากจีนอย่างมาก โดยธนาคารเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 8.4 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าในจีนพุ่งขึ้นนำหน้าความต้องการสินค้าของโลกโดยรวม และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค โดยปัจจัยการเติบโตดังกล่าว ทำให้ธนาคารโลก เชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.8 ในปีหน้า