xs
xsm
sm
md
lg

TMB ไม่ห่วง “ไอเอ็นจี” ปรับองค์กร รอลุ้นอนุมัติซื้อหุ้นเพิ่มจากคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทหารไทย” ยันไอเอ็นจีกรุ๊ป ยังคงนโยบายลงทุนในธนาคารต่อเนื่อง ฟุ้งเป็นแบงก์ที่มีพื้้้นฐาน-อัตราการเติบโตที่ดี ส่วนจะซื้อหุ้นเพิ่มจากคลังขึ้นอยู่ บ.แม่ ยอมรับ 9 เดือนแรกปีนี้ยอดปล่อยสินเชื่อยังติดลบ 13% คาดทั้งปีติดลบ 6-8%

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) เปิดเผยถึงกรณีที่ไอเอ็นจี กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทย มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจโดยจะแยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และขายธุรกิจประกันชีวิตด้วยการนำหุ้นเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนและประชาชน ว่า ธนาคารในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้กับบริษัท ไอเอ็นจีประกันชีวิต ในปัจจุบันนั้น เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจการขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) ในขณะนี้ เนื่องจายังต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างดังกล่าวถึง 4 ปี นอกจากนี้ ทาง ไอเอ็นจี กรุ๊ปเองก็ยังมีนโยบายชัดเจนและยืนยันที่จะลงทุนในธนาคารทหารไทยอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่ามีการปรับโครงสร้างธุรกิจของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป แต่ธนาคารก็ยังมีความร่วมมือกันกับไอเอ็นจีประกันชีวิต และไอเอ็นจีกรุ๊ป ก็ยังมีนโยบายการลงทุนในธนาคารเหมือนเดิม เนื่องจากธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารในภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตที่ดี ขณะที่การทำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ ก็ถือเป็นนโยบายหลักของไอเอ็นจีกรุ๊ป และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะการบริหารงานของธนาคารขึ้นอยู่นโยบายของบอร์ดซึ่งจะมีตัวแทนมาจากผู้ถือหุ้นทั้งกระทรวงการคลัง ไอเอ็นจีกรุ๊ป และผู้ถือหุ้นรายย่อย” นายบุญทักษ์ กล่าว

ดังนั้น ธนาคารจึงยืนยันว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไปจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนนโยบายการล้างขาดทุนสะสมในปี 2553 ก็ยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยแผนธุรกิจจะเป็นการวางแผนร่วมกันของคณะกรรมการในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งโดยหลักๆ แล้วจะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากกระทรวงการคลัง และ ไอเอ็นจี กรุ๊ป

สำหรับกรณีที่ ไอเอ็นจี จะซื้อหุ้นของธนาคารเพิ่มจากกระทรวงการคลังที่ถือในธนาคารอยู่ประมาณ 22.56% หรือไม่นั้น นายบุญทักษ์ กล่าวว่า ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของไอเอ็นจี ในส่วนของธนาคารไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้

ด้านอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมปีนี้คาดว่าน่าจะติดลบประมาณ 6-8% จากช่วง 9 เดือนแรกของปีมียอดสินเชื่อติดลบ 13% ซึ่งเป็นผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ จากภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวลง ประกอบกับนักลงทุนไม่มีการขยายการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะเห็นได้จากกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 60% จึงส่งผลให้มีการขอสินเชื่อเพื่อใช้สำหรับขยายกำลังการผลิตน้อยลง จากอัตรากำลังการผลิตระดับปกติที่จะอยู่ประมาณ 70% ขึ้นไป

“สาเหตุที่สินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีนี้จะติดลบลดลง จากช่วง 9 เดือนแรก เนื่องจากคาดการณ์ว่ายอดการปล่อยสินเชื่อจะมีการเติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อภาคการส่งออกและวงเงินหมุนเวียน หรือ Working Cap ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 13% หรือ คิดเป็นจำนวนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยสิ้นปีคาดว่าจะสามารถลดเอ็นพีแอลให้เหลือที่ระดับ 55,000 ล้านบาท”
กำลังโหลดความคิดเห็น