ม.หอการค้าฯ คาดเทศกาลกินเจปีนี้ เม็ดเงินสะพัด 2.7 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% พร้อมฟันธง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยเดือน ก.ย.อยู่ที่ระดับ 75.6 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีความสุขเพิ่มเป็น 93.8
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายคนไทยในช่วงเทศกาลกินเจช่วงวันที่ 17-26 ตุลาคม 2552 นี้ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,282 คนว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 27,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนที่มีการใช้จ่าย 25,000 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากจำนวนผู้บริโภคที่มากขึ้น และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการบริโภคยังคงเท่าเดิม
ผลสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่าย 6,506.98 บาท เพิ่มจากปี 51 ที่ใช้จ่ายคนละ 6,115.59 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารคนละ 255.75 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 19.7% จากปีก่อน 213.68 บาท ค่าทำบุญ 1,014.78 บาท เพิ่มขึ้น 8.7% จาก 933.56 บาท ค่าเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด 2,733 บาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 2,419 บาท และค่าที่พักขณะเดินทางไปต่างจังหวัด 2,965.42 บาท เพิ่มขึ้น 3.6% จาก 2,863.11 บาท
"กินเจปีนี้คงไม่ซบเซา เพราะผลสำรวจสะท้อนว่าคนยังใช้จ่าย แต่เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นไม่ได้มาจากปริมาณการซื้อที่เพิ่ม ดังนั้นบรรยากาศคงไม่ถึงขั้นคึกคักมาก เพราะเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการใช้จ่ายเติบโตถึง 13% เท่ากับว่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว สังเกตุจากคนนิยมทำอาหารกินเองน้อยลง แต่จะซื้ออาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องมากขึ้น"
ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าฯ ยังกล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน.2552 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,242 คน โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ระดับ 75.6 เพิ่มจากเดือนสิงหาคม 2552 ที่ระดับ 74.5 สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปัจจุบันอยู่ที่ 64.3 เพิ่มจาก 63.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 78.0 เพิ่มจาก 76.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.4 เพิ่มจาก 67.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 67.3 เพิ่มจาก 66.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.0 เพิ่มจาก 89.8
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกในประเทศลดลงเฉลี่ยลิตรละ 2.20 บาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลายแห่ง ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% รัฐบาลมีโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และต่ออายุโครงการ 5 มาตรการไปถึงสิ้นปีได้ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยา ทำให้ประชาชนกล้ากลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง
"ผู้บริโภคเริ่มมีความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อ รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 ภายใต้วงเงิน1.43 ล้านล้านบาท ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงที่ส่งผลทางจิตวิทยาในทางบวกต่อผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต"
นอกจากนี้ ภาวะการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็มีการปรับตัวดี ขึ้นสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยจากการสำรวจพบว่าดัชนี ความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ปรับตัวดีขึ้นจาก 73.3 ในเดือนสิงหาคม 2552 เป็น 76.1 ในเดือนกันยายน 2552 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านใหม่ ปรับตัวดีขึ้นจาก 74.2ในเดือนสิงหาคม 2552 เป็น 76.2 ในเดือนกันยายน 2552 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนปรับตัวดีขึ้นจาก ในเดือนสิงหาคม 2552 จาก 78.3 เป็น 79.7 ในเดือนกันยายน 2552
อย่างไรก็ตามเมื่อดูดัชนีความเหมาะสมในการท่องเที่ยว พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 80.0 ในเดือนสิงหาคม 2552 เป็น 83.4 ในเดือนกันยายน 2552 ทั้งนี้ ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ที่ระดับ 93.8 เป็นการปรับตัวดีขึ้น แสดงว่าประชาชนเริ่มมีความสุขใกล้เคียงปกติ โดยดัชนีความสุขในอนาคตสูงถึงระดับ 99.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน รวมถึงดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง ที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 70.6 ในเดือนสิงหาคม 2552 เป็น 73.4 ในเดือนกันยายน 2552