xs
xsm
sm
md
lg

ชง5ข้อแก้มาบตาพุด ปัดฝุ่นเซาท์เทิร์นซีบอร์ด กกร.ตบเท้าพบนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกร.ตบเท้าพบนายกรัฐมนตรี วันนี้ กางผลกระทบ 4 ด้าน สิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ เศรษฐกิจ การลงทุนภายในและต่างประเทศ หากระงับ 76 โครงการในมาบตาพุด เผยจะเกิดผลกระทบมากมาย คนพื้นที่เสียโอกาส กระทบลงทุน 4 แสนล้าน ธุรกิจส่อล้มละลาย เตรียมชง 5 แนวทางแก้ปัญหา ขณะที่รองประธาน ส.อ.ท.หนุนปัดฝุ่นเซาท์เทิร์นซีบอร์ดสกัดลงทุนหาย นายกฯ นัดถกทุกฝ่าย 8 ต.ค.นี้ ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเวทีสาธารณะ 13 ต.ค.นี้ รับฟังความเห็น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ต.ค.) ตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับผลกระทบจากกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีให้ระงับ 76 โครงการเพื่อคุ้มครองชุมชนมาตาพุด ซึ่งจะเสนอการเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลกระทบกรณีการดำเนินงานโครงการตามที่ได้รับอนุมัติกับกรณียกเลิกหรือชะลอการลงทุนทั้ง 4 ด้าน คือ 1.สิ่งแวดล้อม 2.สังคมและสุขภาพ 3.เศรษฐกิจ และ 4.การลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้มีการร่วมมือกันแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดอยู่แล้ว โดยการลดมลพิษจากโครงการที่ขอขยายตามหลักเกณฑ์ลด 80:20 มีการควบคุมมลพิษทั้งอากาศ น้ำ ขยะ หากมีการยกเลิกหรือชะลอการลงทุนผู้ประกอบการก็จะขาดแรงจูงใจในการลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษ แต่กลับกระทบเพิ่มขึ้น

ด้านสังคมและสุขภาพ ปัจจุบันสุขภาพของคนในพื้นที่ จ.ระยองไม่ได้ต่างจากคนในเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพฯ ขณะที่ 76 โครงการที่ได้รับอนุมัติมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กำหนดการดูแลสังคมและประชาชนในพื้นที่ทุกด้านไว้อยู่แล้ว หากชะลอหรือยกเลิก 76 โครงการไม่ใช่การป้องกันและแก้ไขสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แต่กลับเป็นการสร้างปัญหาในมิติอื่นๆ ให้สูงขึ้น เพราะจะสูญเสียโอกาสดูแลด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา การสร้างรายได้ให้กับชุมชน การคืนภาษีกลับสู่ท้องถิ่นและประเทศ

ด้านเศรษฐกิจ 76 โครงการนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และระดับประเทศ เพราะมีเงินลงทุนในพื้นที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม หากต้องระงับกิจการหรือยกเลิกทั้งหมดจะสูญเสียเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวและภาคเอกชนจะสูญเสียรายได้ 300,000 ล้านบาทต่อปี ไม่เพียงเท่านั้นผู้ลงทุนโครงการ หากดำเนินการปกติจะสามารถชำระหนี้เงินกู้โครงการที่มีจำนวนหลายแสนล้านบาทได้ตามสัญญา แต่หากต้องระงับก็จะไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งสัญญาเงินกู้ สัญญาเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีผลให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงมาก ผู้ประกอบการอาจล้มละลายและเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสถาบันการเงิน

ด้านการลงทุนทั้งภายในและประเทศ หาก 76 โครงการดำเนินงานตามปกติ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะมีความมั่นใจในการลงทุนต่อไป แต่หากไม่ชัดเจนของกรอบเวลาและแนวทางปฏิบัติจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและอาจทำให้เกิดการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดหอการค้าต่างประเทศแสดงความวิตกและอาจจะแนบหนังสือยื่นในการพบนายกฯ ครั้งนี้ด้วย

นายสันติกล่าวว่า กกร. จะเสนอเพื่อพิจารณา 5 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องการให้รัฐบาลหาข้อสรุปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลปกครองกลางตีความต่างกัน 2.ต้องการให้มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องกำหนด 8 กิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงโดยให้มีผลทางกฎหมายทันที

3.จากการประกาศ 8 ประเภทกิจการที่เข้าข่ายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรุนแรงนั้น เห็นว่า 76 โครงการไม่ได้เข้าข่าย 8 ประเภทดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อไม่ให้กิจกรรมทั้งหมดหยุดชะงักจนกระทบกับเศรษฐกิจ

4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุดเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 67 โดยเฉพาะการตั้งองค์กรอิสระ การประกาศบัญชีรายชื่อกิจการที่มีผลกระทบชุมชนรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และ 5.การอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานรัฐควรมีการตรวจสอบและเสนอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า หากมีการระงับ 76 โครงการจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมภาพรวม เนื่องจากโครงการลงทุนดังกล่าวจะเป็นห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำที่มีอยู่ รวมไปถึงโครงการลงทุนเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น เช่น การลงทุนของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐานยูโร 4 ที่จะมีผลบังคับ 1 ม.ค.2555 รวมไปถึงโรงแยกก๊าซหุงต้ม หากไม่เป็นไปตามแผนก็จะต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น

ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างไร หรือจะมีการพัฒนาต่อหรือไม่ หรือจะมีการพัฒนาพื้นที่ใหม่ขึ้นมารองรับ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด เพื่อกระจายการลงทุนลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทย หรืออันดามัน

ทั้งนี้ โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดมีศักยภาพและความพร้อมในตัวเองไม่น้อย ไม่เป็นรองมาบตาพุด เพียงแต่กระบวนการดำเนินการที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคทำให้โครงการนี้ยังไม่ปรากฎภาพความชัดเจนในพื้นที่ภาคใต้

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล และมีการลงเลขรับไปแล้ว แต่ศาลจะพิจารณาประทับรับอุทธรณ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล โดยขณะนี้กระทรวงฯ ไม่มีอำนาจสั่งให้ภาคเอกชนระงับโครงการ แต่ได้ทำหนังสือถึงศาลไปแล้วและขอให้ชี้แจงว่ากระทรวงอุตสาหกรรมควรดำเนินการอย่างไร

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯ จะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นในเรื่องมาบตาพุด ในวันที่ 13 ต.ค. เวลา 09.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะเชิญ รมว.อุตสาหกรรม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนนักธุรกิจ นักวิชาการและชาวบ้านมาเข้าร่วม

รายงานข่าวจากศาลปกครอง แจ้งว่า การพิจารณาอุทธรณ์คดีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการก่อสร้าง โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง โดยภายหลังจากนายประศาสน์ชัย ตัณฑพานิช อธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครอง รับมอบอำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้อง ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดจะเลือกองค์คณะขึ้นมาพิจารณาคำอุทธรณ์ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาวินิจฉัย หากสำนวนคดีมีข้อเท็จจริง ที่ศาลต้องการไต่สวนเพิ่มเติม โดยอาจมีคำสั่งเรียกไต่สวนพยานหรือให้ส่งพยานเอกสารเพิ่มเติม แต่หากข้อเท็จจริงครบถ้วน ศาลไม่ต้องไต่สวนก็จะทำให้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคำร้องอุทธรณ์โดยเร็วได้

ทั้งนี้ ระหว่างที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคำอุทธรณ์ ในส่วนของคดีมาบตาพุดที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายภาณุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะจะพิจารณา ไต่สวนคดีมาบตาพุดต่อไปตามขั้นตอนการพิจารณาคดี เนื่องจากศาลปกครองกลาง ได้รับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแม้อัยการจะยื่นอุทธรณ์ ก็เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ไม่มีผลต่อคำฟ้องหลักที่ศาลรับฟ้องไว้แล้วก็ต้องไต่สวนเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ หารือแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการก่อสร้าง 76 โครงการอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องนี้จะมีผลให้การลงทุนหยุดชะงักลง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้จะหารือถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะมากำกับดูแลการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น