xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปล่อยผี เหล็ก SCG ลุยมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้บริษัทเหล็กสยามยามาโตะ เครือปูนใหญ่พ้นระงับกิจการชั่วคราวแล้ว ส่งผลให้เอกชนรายอื่นๆโดยเฉพาะปตท.คึกจ่อยื่นขอพ้นการระงับปลายสัปดาห์นี้ 13 กิจการ คณะกรรมการ 4 ฝ่ายสรุปเกณฑ์ปฏิบัติEIA-HIA วันนี้ต่อบอร์ดสวล.ดึงองค์กรอิสระร่วมรังฟังความเห็นมากขึ้น “ชาญชัย”เบรกบอร์ดกนอ.ลาออกหวังให้ช่วยกันแก้ปัญหาก่อน

วานนี้ (23 ธ.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า โครงการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อนของบริษัท ของบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 65 โครงการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรรมมาบตาพุด ไม่ใช่โครงการหรือกิจกรรมที่ต้องระงับเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับอนุญาตประกอบกิจการเมื่อวันที่ 22 ส.ค.50 ซึ่งเป็นวันก่อนประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในวันที่ 24 ส.ค.50

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎตามหนังสือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 12 ก.ย.50 ว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIAโครงการของบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการอุตสาหกรรมหรือคชก. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.50 และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบกิจการในเขตนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(มาบตาพุด) เนื้อที่ประมาณ 154 ไร่ 1 งาน 30.50 ตารางวา เพื่อประกอบกิจการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ในวันที่ 22 ส.ค.50

นายดำริ ตันชีวะวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีขอขอบคุณศาลปกครองกลางที่พิจารณาถอดโครงการของเหล็กสยามยามาโตะ ออกจากโครงการที่ถูกระงับการดำเนินการชั่วคราว ซึ่งบริษัทเหล็กสยามฯเป็นผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างเอสซีจี (SCG) ยามาโตะ โคเกียว (Yamato Kogyo) มิตซุย (Mitsui) และซูมิโตโม (Sumitomo) จากประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 12,000 ล้านบาท

ชงกรอบปฏิบัติ EIA-HIA วันนี้

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ ประธานคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนจะเสนอผลสรุปกรอบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดลอ้มแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบวันนี้(24ธ.ค.) เพื่ออนุมัติและให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศปรับปรุงร่างประกาศดังกล่าวซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วันก็จะมีผลให้เอกชนนำไปปฏิบัติได้ทันที

สำหรับหลักการเบื้องต้นการจัดทำ EIA-HIA เอกชนจะต้องกำหนดขอบข่ายการดำเนินงานว่ามีอะไรบ้างเพื่อให้ประชาชนเสนอความเห็นว่ามีความกังวลหรือเป็นห่วงอะไร เมื่อจัดทำรายงานเสร็จก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน(ประชาพิจารณ์)ซึ่งช่วงนี้จะมีการให้องค์กรอิสระร่วมให้ความเห็นตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง ต่อจากนั้นก็ให้ทำรายงานส่งต่อคชก.ก่อนส่งไปยังองค์กรอิสระอีกครั้งเพื่อให้ความเห็นประกอบ แล้วจึงส่งไปยังหน่วยงานอนุมัติอนุญาตต่อไป ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน

นอกจากนี้จะเสนอบอร์ดสวล.เกี่ยวกับการให้กิจการ 65 กิจการทำ HIA ร่วมกันโดยจัดประเภทที่คล้ายกัน และอยู่พื้นที่ใกล้กันร่วมกันทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นฐานข้อมูลที่จะใช้ในภาพรวม

ลุยสร้างโรงแยกก๊าซ 6

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้ ปตท.จะยื่นศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับกิจกรรมทั้ง 19 โครงการในมาบตาพุดตามที่ครม.มีความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง 1ใน 19 โครงการ มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 รวมอยู่ด้วย

โดยบริษัทฯมีความมั่นใจว่าศาลจะพิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุญาตผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2550 และเป็นโครงการที่ไม่อยู่ในหล้กเกณฑ์อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรง

ปัจจุบันโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเกือบทั้งหมด เพียงแต่รอเก็บรายละเอียดแก้ไขข้อบกพร่องบางอย่างและทดลองผลิตก่อนรับมอบโรงงานจากผ้รับเหมาก่อสร้าง แต่คำสั่งศาลปกครองสูงสุดทำให้โครงการนี้ต้องหยุดดำเนินการใดๆ

ปตท.ขอเดินหน้าต่อ 13 โครงการ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่ม ปตท.จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งยกเลิกระงับโครงการลงทุน 13 โครงการในปลายสัปดาห์นี้ เนื่องจากพบว่าโครงการบางส่วนที่ได้ผ่านการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)ก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ใน ปี 2550 ส่วนบางโครงการเห็นว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้คงต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกทีว่าศาลจะนัดไต่สวนอะไรหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการในพื้นที่มาบตาพุด โดยเป็นของกลุ่ม ปตท.ได้รับผลกระทบถึง 25 โครงการ รองลงมาคือกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยมีถึง 18 โครงการ

ระงับบอร์ด กนอ.ลาออก

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวหลังจากการประชุมคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวันที่ 24 ธ.ค.ว่า นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานบอร์ดกอน.ได้หารือกับ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหามาบตาพุดแต่รัฐมนตรีได้มีนโยบายให้คณะกรรมการ กนอ. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ

ทั้งนี้บอร์ดกนอ.จะตั้งหน่วยงานกลางภายใต้การกำกับของ กนอ.ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ดูแลชุมชนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆเป็นการเฉพาะ โดยหน่วนงานดังกล่าวต้องรายงานผลด้านต่างๆต่อ กนอ.เป็นระยะๆ รวมทั้งเตรียมเสนอของบประมาณ 478 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุด โดยงบประมาณส่วนนี้จะนำไปใช้ในการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือ CCTV จำนวน 300 ล้านบาท ที่เหลืออีก 178 ล้านบาท จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ในการตรวจค่ามลพิษต่างๆ เช่น รถโมบาย อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำและอากาศ ซึ่ง มาตรการเหล่านี้จะแล้วเสร็จตามแผนภายใน 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2553 เผย 6 โครงการได้ EIA ก่อน 24 ส.ค.50

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการที่ได้อีไอเอก่อน รธน.50 มีผล มี 6 โครงการได้แก่ โรงแยกก๊าซที่ 6 ของ ปตท., โครงการขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมีวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จำนวน 8 ถังของ ปตท. , โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชน่ดความหนาแน่นสูง ของบริษัท บางกอกโพลีเอทิลีน ,โครงการผลิตสารเอทานอลเอมีน ของบริษัทไทยเอทานอลเอมีน ,โครงการเหล็กรูปพรรณและเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน ของสยามยามาโตะ,โครงการผลิตอีพ๊อกซี่เรซิน (ส่วนขยาย) ของอดิตยา เบอร์รา โดยทั้ง 6 โครงการมีเม็ดเงินลงทุนรวม 52,700 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น