xs
xsm
sm
md
lg

เตือนความเสี่ยงปี 53 ต้นทุนการเงินพุ่ง แนะปรับโครงสร้าง ดบ.ฟิกซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกร เตือนผู้ประกอบการ ระมัดระวังต้นทุนการเงิน ชี้แนวโน้มปี 53 มีโอกาสขยับสูงขึ้น หลังสัญญาณ ศก.เริ่มฟื้นตัว แนะเตรียมแผนรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งการปรับโครงสร้างเงินทุนในปัจจุบันให้มีส่วนผสมของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น หรือรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมเพื่อรับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำ “ดัชนีภาวะทางการเงินภาคธุรกิจ” (Financial Condition Index: FCI) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดภาวะทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยข้อมูลล่าสุดคือในเดือนสิงหาคม 2552 โดยพบว่า ดัชนี FCI ยังคงขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากร้อยละ 10.6 ในเดือนกรกฎาคม 2552 มาที่ร้อยละ 8.9 ในเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อน

การปรับตัวดีขึ้นของภาวะทางการเงินภาคธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2552 ยังคงเป็นผลจากการขยับสูงขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย ผนวกกับการที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินเชื่อสุทธิที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่เผชิญกับภาวะการหดตัวของสินเชื่อมานานติดต่อกันนานถึง 4 เดือน ทั้งนี้ ทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่เริ่มดีขึ้นดังกล่าว สะท้อนภาวะทางการเงินภาคธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากสินเชื่อถือเป็นแหล่งเงินทุนหลักของธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ตามความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายลงไป

อย่างไรก็ตามภาวะทางการเงินภาคธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในเดือนนี้ กลับเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่เริ่มขยับสูงขึ้นอีกครั้ง ผลจากมุมมองในเชิงบวกของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าภาวะทางการเงินภาคธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีน่าจะยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากตลาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล

แต่สำหรับธุรกิจรายใหญ่ที่มีการพึ่งพิงเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจต้องเตรียมรับมือกับโอกาสการปรับขึ้นของต้นทุนการระดมทุน ตามแนวโน้มอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่อาจขยับขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งแม้ว่าแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจยังไม่ได้นำมาสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในอนาคตอันใกล้ แต่ความเป็นไปได้ของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว คงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2553 โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงชัดเจนขึ้น

ดังนั้น ภายใต้มุมมองดังกล่าว ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดเล็กจึงควรหาแนวทางรับมือกับโอกาสการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินทุนในปัจจุบันให้มีส่วนผสมของเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น หรือรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมเพื่อรับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรมากขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น