เอสเอ็มอีชะเง้อรอซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน หลัง “กรณ์” ลั่นต้องเร่งปล่อยกู้ช่วยสภาพคล่อง ขณะที่ สศค.รอร่างโปรดักโปรแกรมให้ออมสิน-แบงก์พาณิชย์ ดำเนินการตามนโยบาย บิ๊กออมสินระบุพร้อมทำตามนโยบายเต็มที่
หลังจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้มีนโยบายที่จะให้ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% และจะให้ธนาคารพาณิชย์ สมทบวงเงินสินเชื่ออีก 25,000 ล้านบาท ด้วย โดยในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาในการดำเนินการ คงต้องมีการหารือกับทางธนาคารพาณิชย์ก่อนนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมายการศึกษาแนวทางการดำเนินการอย่างเป็นทางการจาก รมว.คลังมายังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แต่อย่างใด
ซึ่งทีมงานของ สศค.ในส่วนของสำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน ก็พร้อมที่จะศึกษาเรื่องดังกล่าวหากมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนออกมา ทั้งในด้านแหล่งที่มาของวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทว่านอกจากธนาคารออมสินที่ตั้งวงเงินไว้ 2.5 หมื่นล้านบาทแล้วจะเอเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใด รวมทั้งอัตราเงินชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะแบกรับภาระแทนธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์อื่นจะอยู่ในอัตราเท่าไร
“เชื่อว่าในเร็วๆ นี้ รมว.คลังคงจะมีคำสั่งออกมาอย่างเป็นทางการและเร่งรัดให้โครงการปล่อยเงินกู้ซอฟท์โลน 5 หมื่นล้านบาทนี้ออกมาโดยเร็ว เพราะสภาพคล่องในระบบมีอยู่มากแต่ธนาคารพาณิชย์กลับไม่ยอมปล่อยกู้ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งในแง่ของระดับปฏิบัติการก็พร้อมที่จะดำเนินการในทันทีหากมีคำสั่งออกมาและกำลังรออยู่ว่าจะได้ดำเนินการเรื่องนี้เมื่อใดเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศที่กำลังเดือดร้อนหนักในขณะนี้” แหล่งข่าวระบุ
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อ้างถึงผลการหารือกับทางกระทรวงการคลังในเรื่องการจัดตั้งกองทุน SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SMEs ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2552 นี้
***แบงก์ออมสินพร้อมลุย
นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มบริหารการเงิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินมีความพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ในขณะนี้ยังมีมีความชัดเจนในเรื่องนี้จากกระทรวงการคลังแจ้งให้ธนาคารออมสินทราบแต่อย่างใด ทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะสรุปที่เท่าใดและเงินชดเชยสำหรับต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะชดเชยในอัตราใด
“ตอนนี้เรารอเพียงแผนสินเชื่อจากกระทรวงการคลังก็สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ทันทีเพราะเรามีความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันของธนาคารออมสินก็หันมาเพิ่มสัดส่วนกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้นเพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี หากเราสามารถช่วยให้เขาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ในช่วงนี้จะทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมีขีดความสามารถในการแข่งขันตอนเศรษฐกิจฟื้นได้อย่างเต็มที่” นายธัชพลกล่าว.