xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯแย้มปีหน้ารุกปล่อยกู้ภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กสิกรไทยเผยไต๋ปีหน้ามีแผนขยายสินเชื่อสัดส่วนของภาครัฐบาลมากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อไม่ถึง 1% ชี้สัญญาณความต้องการสินเชื่อเริ่มเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 4 เป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ฉุดยอดสินเชื่อทั้งปีเข้าเป้า 4 % ยันธุรกิจอสังหาริทรัพย์ไม่มีฟองสบู่ ยังไม่เห็นสัญญาณการปั่นราคา เข้ามาเก็งกำไร ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2553 ธนาคารมีแผนขยายสินเชื่อในสัดส่วนของภาครัฐบาลมากขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังขอกู้ รัฐวิสาหกิจปล่อยกู้ และบริษัทเอกชนหรือลูกค้าที่ร่วมโครงการของภาครัฐบาลเข้ามาขอกู้ เบื่องต้นยังไม่ได้สรุปเป็นที่ชัดเจนว่าจะตั้งเป้าการขยายสินเชื่ออย่างชัดเจนเพราะอยู่ระหว่างพิจารณาแผน

“โครงการภาครัฐบาลมีความสำคัญมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะฉะนั้นแบงก์จึงมีส่วนร่วมในการปล่อยกู้กับภาครัฐบาลมากขึ้นโดยในทุกโครงการแบงก์จะมีส่วนร่วมในการเข้าประมูล แม้ว่าปัจจุบันส่วนตัวจะสรุปตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐบาลได้แล้วแต่จำตัวเลขไม่ได้ แต่คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะค่อยๆเพิ่มขึ้น” นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวอีกว่า จากการเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงก่อนหน้านี้ ธปท.ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ชี้แจงต่อ ธปท.ว่า ขณะนี้สัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อเริ่มมีมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการรายย่อย จะมีการเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้น เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้เติบโตอยู่ที่ 4 % จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4-5 % เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“สินเชื่อระยะยาวก็เริ่มมีสัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อมากขึ้น เช่น โครงการขนาดใหญ่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าเริ่มเกิดขึ้น หลังจากได้มีการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้” นายประสาร กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ก็เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และหากเทียบดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยที่ระดับ 1.25 % ยังสูงกว่าดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0-0.25 % อย่างไรก็ตามซึ่งถ้าพิจารณาตามหลักวิชาการแล้ว พบว่าเศรษฐกิจไทยได้เริ่มฟื้นตัว และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบ ขณะที่ตัวเลขไตรมาส 3 ไปเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้ ตัวเลขไตรมาส 3 จะเป็นบวกแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาส 3 ปีนี้กับปีที่ผ่านอัตราการขยายตัวยังติดลบ และในไตรมาสที่ 4 หลายฝ่ายประเมินออกมาตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเป็นบวก และทั้งปีเศรษฐกิจจะติดลบ 3 % ก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ส่วนกรณีที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัว 3-5 % ก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงซึ่งประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของการเมือง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด และต้องนำมาแก้ไขเพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส

แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เชื่อว่าจากนี้จนถึงสิ้นปียังทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 1.25% และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ส่วนดอกเบี้ยนโนบายของ ธปท. จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2553 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เศรษฐกิจไทยเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริทรัพย์ว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่าฟองสบู่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเป็นลักษณะของค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น และยังไม่เห็นการเข้าไปปั่นราคา และเก็งกำไรเหมือนกับในอดีต

“ผมมองว่าธุรกิจอสังหาริทรัพย์ยังไปได้ คอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้ายังมีความต้องการ การเกิดฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ต้องปรับเพิ่มขึ้นรุนแรง มีการเข้าไปเก็งกำไร ในช่วงที่ผ่านมาราคาค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น และยังไม่มีการเข้าไปเก็งกำไร จึงยังไม่มีสัญญาณของฟองสบู่” นายประสาร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น