xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” แจงสภา ยัน พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้าน ยังจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง
“กรณ์” แจงสภา ยืนยัน พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน ยังมีความจำเป็น เพราะภาคเอกชนยังอ่อนแอ การฟื้นตัวของ ศก.ยังเปราะบาง พร้อมเปิดให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และขออภัยหากการชี้แจงทำให้สมาชิกเข้าใจว่าข่มขู่ “วุฒิชัย” เผยคลังเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งฯ ก้อนแรก 1.45 หมื่นล้าน ก.ย.นี้ เพื่อให้สถาบันการเงินรัฐ 5 แห่ง เร่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

รายงานข่าวระบุว่า การประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ วันนี้ เป็นการพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ... จำนวน 4 แสนล้านบาท การอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ยังคงไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากไม่มีรายละเอียด และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่หากวุฒิสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็จะส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วมกันแก้ไขต่อไป

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงในระหว่างการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาวาระร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 4 แสนล้านบาท โดยระบุว่า การกู้เงินในส่วนของ พ.ร.บ.นั้น ยังคงมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้จะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม

รมว.คลัง ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ทั้งการส่งออกและรายได้ของประเทศ สูญเสียไปกว่า 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอยู่ ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ

"นักลงทุนภาคเอกชนมุ่งหวังเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลเพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าจะสามารถเบิกจ่ายให้เม็ดเงินเพื่อเข้าสู่ระบบได้ ส่วนที่มี ส.ว.ต้องการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รัฐบาลไม่มีปัญหา"

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับ รัฐบาลก็จะขอใช้สิทธิตีความซึ่งจะทำให้ล่าช้า และจะทำให้เม็ดเงินลงระบบช้า ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ รัฐบาลพร้อมจะดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจทันที พร้อมทั้งจะมีการรายงานกรอบการใช้จ่ายเงินใน พ.ร.บ. ต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสให้มากที่สุด

ส่วนความเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณนั้น รัฐบาลจะขอความร่วมมือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเป็นรายจังหวัด เพื่อรายงานต่อรัฐบาล อุดช่องโหว่และลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของเม็ดเงิน

นายกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดูตามความเหมาะสม หากมีข้อสงสัยในส่วนใด ผู้ตรวจสอบสามารถตรวจสอบได้โดยการอภิปราย รวมทั้งการตั้งกระทู้ถาม

อย่างไรก็ตาม การบริหารใช้จ่ายงบประมาณตามรัฐธรรมนูญได้ให้บทบาทฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอและให้ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงแค่รับทราบเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวได้ตามช่องทางที่มีอยู่ เช่น การตั้งกระทู้ถามรัฐบาล ส่วนการที่รัฐบาลไม่ได้เสนอรายละเอียดโครงการไทยเข้มแข็งไว้ว่าจะนำไปใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง เป็นเพราะในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เคยพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า จากการชี้แจงดังกล่าวทำให้ ส.ว.หลายคนไม่พอใจ และลุกขึ้นอภิปรายตอบโต้ จากนั้น นายกรณ์ ชี้แจงอีกครั้ง ว่า เนื่องจากเพิ่งเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจที่สหราชอาณาจักรเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ดังนั้นต้องขออภัยต่อสมาชิกวุฒิสภา หากการชี้แจงทำให้เกิดสมาชิกเกิดความรู้สึกว่าถูกข่มขู่ด้วยเงื่อนไข ซึ่งยืนยันว่าไม่มีเจตนาเช่นนั้น ตนเองชี้แจงด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรรัฐบาลก็ต้องมีการยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

**คลังอัดไทยเข้มแข็ง 1.4 หมื่นล้าน ผ่าน 5 แบงก์รัฐ งวดแรก ก.ย.นี้

ด้านนายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวความคืบหน้าโครงการไทยเข้มแข็ง โดยระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมเบิกจ่ายเงินงบประมาณวงเงิน 14,500 ล้านบาท ผ่านระบบ GFMIS ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเข้าสู่ระบบได้ ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นวงเงินสำหรับการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินของเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 3,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 5,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 3,000 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) 2,500 ล้านบาท

"เราจะเบิกจ่ายรอบแรกวันนี้ เพื่อให้สถาบันการเงิน 3 แห่ง จำนวน 10,000 ล้านบาท และวันที่ 28 กันยายน 2552 อีกครั้ง จำนวน 4,500 ล้านบาท"

สำหรับโครงการอื่นๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท รัฐบาลจะทยอยอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ โดยงบประมาณ จำนวน 2 แสนล้านบาทแรก ส่วนใหญ่อยู่จัดสรรให้ 4 กระทรวงหลักคิดเป็น 75% ของวงเงิน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายการเบิกจ่ายให้ได้ 90 % โดยเจ้าของโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการต่อได้ทันที

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า ขั้นตอนวิธีการจ่ายเงินงบประมาณ หน่วยงานเจ้าของ ต้องเปิดบัญชีเงินฝากคลัง สำหรับงบไทยเข้มแข็งกับธนาคารรัฐวิสาหกิจ และเบิกจ่ายเหมือนงบประมาณปกติผ่านระบบ GFMIS เพื่อสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินได้ และเมื่อโครงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับจัดสรรงบประมาณ ให้ดำเนินงานตามแผนงานต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ โดยร่นระยะเวลาการดำเนินการด้วยระบบ E-Auction ลดขั้นตอนและเวลาดำเนินการเหลือ 28 วัน จากเดิม 85 วัน เพื่อช่วยให้เม็ดเงินเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น เกิดการจ้างงานทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มเติม และจะมีกระบวนการติดตามการใช้จ่ายเงินอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น