เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้วาระ 2 และ 3 หลัง “ส.ว.สมชาย” จี้ถามกลางสภา รัฐบาล ล็อบบี้โหวต ส.ส.-ส.ว.ผ่านร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ แลกกับงบท้องถิ่นจริงหรือไม่ ด้าน “กอร์ปศักดิ์” ลุกขึ้นยอมรับมีการคุยกันจริง แต่หารือไม่ให้รัฐจัดสรรงบกระจุกตัวในพื้นที่ ขณะที่ “กรณ์” ก้นร้อน แจงเหตุรัฐไม่กู้เงินตาม กม.ระเบียบงบฯ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่ทำตามมาตรา 169 ใน รธน.ที่ระบุว่าจะใช้เงินแผ่นดินได้ก็ต่อเมื่อเป็น กม.งบรายจ่ายประจำปีเท่านั้น
วันนี้ (21 ก.ย.) ในการประชุมสภา เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ วาระ 2 และ 3 นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ลุกขึ้นอภิปรายสอบถามรัฐบาลว่า จากการที่มีกระแสข่าวว่ามีการต่อรองงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมทางหลวง เพื่อลงพื้นที่ของ ส.ว. แลกกับการโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ อยากให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีผลต่อการโหวตร่าง พ.ร.บ.เงินกู้
จากนั้น นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ขอยืนยันไม่มีการต่อรองงบฯเพื่อลงพื้นที่ แต่ยอมรับว่ามีการพูดคุยกับ ส.ส.และ ส.ว.จริง แต่เป็นที่ร้องขอไม่ให้รัฐบาลจัดงบฯกระจุกตัวในบางพื้นที่ ส่วนการลงมติของ ส.ว.นั้น จะเป็นอย่างไรก็เป็นสิทธิของส.ว.แต่ละคน
ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินตามกฎหมายระเบียบงบประมาณ ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลกลัว แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ระบุว่า การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะกรณีไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยการเงินคงคลัง เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้รัฐบาลจึงเห็นว่าสามารถทำได้
นายกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ไม่สามารถนำเงินส่งคืนคงคลังได้ เพราะหากทำเช่นนั้น การนำเงินคงคลังออกมาใช้จะมีปัญหา เพราะอาจทำให้เป็นการใช้งบประมาณแบบขาดดุลได้ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กำหนดให้รัฐบาลใช้เงินนอกงบประมาณไม่เกิน 20% เท่านั้น ขณะนี้รัฐบาลใช้โควตาดังกล่าวเต็มแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิสดารแต่อย่างใด เพราะทุกครั้งที่มีการกู้เงินก็ไม่มีการนำเงินเข้าคงคลัง การพิจารณามาตรา 3 ที่ผ่านมา เห็นว่าเป็นการรีบลงมติโดยยังไม่ได้รับฟังข้อมูลที่ครบถ้วน แต่ยังหวังว่ามีโอกาสในการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมกัน ว่าจะนำข้อมูลทั้งหมดมาอภิปรายแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งถ้ากรรมาธิการร่วมกันมีมติไม่สอดคล้องกับรัฐบาล เมื่อส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลสามารถโน้มน้าวให้เห็นสอดคล้องตามร่างเดิมของรัฐบาล
จากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงสิ้นสุดลง