xs
xsm
sm
md
lg

คดีปั่นหุ้น-อินไซด์พุ่ง ยอดปรับทะลุ 120 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.ล.ต เผย มูลค่าเปรียบเทียบปรับครึ่งปีแรกพุ่งกระฉูดกว่า 120 ล้านบาท ทะลุยอดปรับของปีก่อนที่มีมูลค่าเพียง 8.13 ล้านบาท ระบุ ส่วนใหญ่เป็นคดีปั่นหุ้น-ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น “ยรรยง อัครจินดานนท์” ครองแชมป์โดนปรับหนักสุด 29 ล้านบาท ด้าน “ประสงค์” คาด ดีเอสไอสั่งฟ้องบิ๊ก SECC “สมพงษ์” พร้อมพวกทันภายในปีนี้ หลังขอขยายเวลาอายัดทรัพย์ต่ออีก 180 วัน พร้อมแจงดีเอสไอ ตั้งทีมสอบคดีพิเศษ 96 คดี เชื่อมีหลักฐานการทุจริต

นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2552 คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับสำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับรวมมูลค่าทั้งสิ้น 120.94 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการเปรียบเทียบปรับทั้งปีของปี 2551 ที่มีมูลค่า 8.13 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,387.57%

โดยการเปรียบเทียบปรับดังกล่าว ประกอบด้วย การปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์) และการแพร่ข่าวเป็นเท็จรวม 16 คดี คิดเป็นมูลค่า 110.43 ล้านบาท การกระทำผิดในเรื่องการประกอบธุรกิจจัดการลงทุน 7 คดี (6 ราย) มูลค่า 3.07 ล้านบาท การกระทำผิดในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ 16 คดี (9 ราย) การกระทำผิดการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 9 คดี (5 ราย) มูลค่า 1.06 ล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าการเปรียบเทียบปรับในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสูงกว่าทั้งปีของปี 2551 สืบเนื่องจากผู้กระทำความผิดในการปั่นหุ้น หรือการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) สามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับนั้นสามารถสั่งปรับได้ 2 เท่าของกำไรที่ผู้ปั่นหุ้นทำได้ จึงทำให้มูลค่าในการปรับปีนี้สูง

สำหรับการสั่งเปรียบเทียบปรับของสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้ส่งเรื่องให้ เพราะตลาดหลักทรัพย์จะเป็นด่านแรกในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และมีส่วนน้อยที่สำนักงาน ก.ล.ต.ทำการตรวจสอบเองบ้าง

“การเปรียบเทียบปรับครึ่งปีแรก 2552 จำนวนคดีไม่เยอะ แต่หากดูในด้านตัวเงินนั้นมูลค่าสูงกว่าทั้งปีที่ผ่านมา เพราะพฤติกรรมการปั่นหุ้นของคนนั้นได้กำไรมาก ทำให้มูลค่าการปรับสูง เพราะเกณฑ์การปรับกำหนดให้สามารถปรับได้ 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยการปรับนั้นเป็นคดีที่เจอตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่มีการเปรียบเทียบปรับในปีนี้ จากที่มีกระบวนการสอบสวนหาหลักฐาน ซึ่งเงินที่ได้จากการปรับจะส่งให้กระทรวงการคลัง” นายประสงค์ กล่าว

จากข้อมูลการเปรียบเทียบปรับ พบว่า ผู้ที่ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับมูลค่าสูงสุด คือ นายยรรยง อัครจินดานนท์ กรณีปั่นหุ้นบริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ มูลค่า 29.46 ล้านบาท รองมา นายเอก พุทธาโกฐิรัตน์ กรณีปั่นหุ้น TWZ มูลค่า 14.43 ล้านบาท และนายฉาย บุนนาค มูลค่า 4.83 ล้านบาท กรณีปั่นหุ้น ฯลฯ

สำหรับช่วง 6 เดือนปีนี้ได้มีการกล่าวโทษต่อ DSI จำนวน 4 คดี ประกอบด้วย การกล่าวโทษผู้บริหาร บริษัท ปิกนิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ทุจริตจำนวน 12 ราย, บริษัท เค-เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTECH กรณีไม่จัดส่งงบการเงิน, บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เอซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)หรือ SECC ที่กล่าวโทษผู้สอบบัญชี ซึ่งถือเป็นการกล่าวโทษผู้สอบบัญชีเป็นครั้งแรก จากที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน และบริษัท หวาง ลี่ โกลบอล มาร์เก็ต จำกัด บริษัท กลอรี่ พรอสเพอริตี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เวิลด์ เทรดดิ้ง พรอสเพอริตี้ จำกัด บริษัท ดับเบิ้ลยู เอส ดี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท WSD Financial (NZ) Ltd.ฐานประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

นายประสงค์ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่ผู้บริหาร บมจ.เอส.อี.ซี.ออโต้เอซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) พร้อมพวกร่วมกันทุจริตและยักยอกทรัพย์ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ว่า ก.ล.ต.ได้มีการขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของ นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ กับพวกต่อไปอีก 180 วัน หลังจากที่ครบกำหนดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ซึ่งจะครบกำหนดภายในสิ้นปีนี้

“ผมมั่นใจว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะสามารถรวบรวมหลักฐานและส่งฟ้องศาลได้ทันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาอายัดทรัพย์สินที่ขอขยายระยะเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 2 เพราะหากสั่งฟ้องไม่ทัน จะทำให้ไม่สามารถที่จะอายัดทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวได้ต่อไป และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางดีเอสได้ขอศาลออกหมายจับ นายสมพงษ์ แล้ว”

สำหรับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ตั้งเรื่อง 96 คดี มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท เป็นคดีพิเศษ นั้น นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำนักงาน ก.ล.ต.ส่งให้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่มีหลักฐานการกระทำความผิดไม่ครบถ้วน จึงส่งต่อให้ DSI สืบสวนต่อไป บวกกับการกระทำผิดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงต้องตั้งเป็นคดีพิเศษ ซึ่งปกติทาง DSI จะให้ ก.ล.ต.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสอบสวน รวมทั้งการที่ดีเอสไอมีการตั้งทีมคดีพิเศษขึ้นมา เชื่อว่า DSI จะต้องมีข้อมูลมากพอสมควรแล้ว จึงได้มีการตั้งทีมสอบสวนขึ้นมาก

“การที่ DSI มีการตั้งทีมสอบสวนพิเศษขึ้นมา เพื่อตรวจสอบ 96 คดีนั้นเป็นเรื่องที่ก.ล.ต.ส่งเรื่องให้เมื่อปี 2550 ซึ่งมีหลายคดี แต่จะมีคนถึง 96 คนเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะบางคดีจะเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่รู้ว่า DSI จะนับซ้ำหรือไม่” นายประสงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น