ผลประชุม กรอ.สรุปให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาท โดยแยกเป็น 2 ตลาด "ส่งออก-ตลาดหุ้น" แนะบทบาทธนาคารกลาง ต้องทันเกมการค้าโลก-ขยันทำการบ้านเพิ่ม เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า พร้อมมีมติรื้อระบบประมูล "อี-ออคชั่น" ยุคทักษิณ เพราะได้ของถูกแต่ไร้คุณภาพ สั่งคลังศึกษา-เสนอใหม่ใน 2 เดือน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท. ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยระบุว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยเห็นว่า ควรมีการแยกตลาดค่าเงินเป็น 2 ส่วน ระหว่างตลาดค่าเงินบาทสำหรับผู้ส่งออก และตลาดการเงินสำหรับผู้เล่นหุ้น
สำหรับค่าเงินบาทในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ธปท.ต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า เรื่องนี้ ธปท.ได้รับแนวทางดังกล่าวไปศึกษาตามข้อกฎหมายแล้ว และคงจะดูว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ ภาคเอกชนไม่สามารถตอบรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้ โดยได้มอบหมายให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รับไปหารือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อหาแนวทางดึงวงเงินค้ำประกันส่งออก ที่มีอยู่ 1.5 แสนล้านบาท ออกมาให้กับผู้ประกอบการ ที่ประสบปัญหา
**กรอ.ให้คลังศึกษา อี-ออคชั่น เสนอใหม่ใน 2 เดือน
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กรอ.ยังได้มีการหารือถึงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) ที่มีปัญหาต่อเนื่องมา 3-4 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและภาคเอกชนไปศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับโครงการที่จะประมูลผ่านระบบอี-ออคชั่น และนำกลับมาเสนอที่ประชุม กรอ.อีกครั้งภายใน 1 - 2 เดือนนี้ โดยในส่วนของโครงการที่ติดปัญหาส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้าง โครงการจัดซื้อวัสดุและเวชภัณฑ์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมองว่า การประมูลผ่านระบบอี-ออคชั่นที่เกิดขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการออกกติกาแบบกลางๆ เพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ของที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงควรปรับปรุงระบบดังกล่าวเพื่อให้การประมูลมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ