xs
xsm
sm
md
lg

“โกร่ง” แฉโครงการรัฐ สินบน-ใต้โต๊ะ ปมอาชญากรรม ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วีรพงษ์” ยอมรับ “ดีเอสไอ” ทำงานล้มเหลว เกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมาย ทั้งเรื่องการเงิน ภาษี และบัญชี ในยุค ศก.ไร้พรมแดน ขณะที่พรรคการเมือง ต้องหาเงินทุนดำเนินกิจการ ชี้ ปมทุจริตโครงการรัฐ ทั้งการจำนำสินค้าเกษตร และการประกันราคา จับตรงไหนก็เจอตรงนั้น พร้อมยอมรับ การสอบสวนคดีอาชญากรรมทาง ศก.ไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องยาก แนะ ขรก.ต้องห้ามใจ งดสินบน-รับใต้โตะ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้จัดงานสัมมนา “เทคนิคการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยใช้ความรู้ด้านบัญชีภาษีอากรและการเงิน” โดย นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการคดีพิเศษ บรรยายเรื่องอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ

นายวีรพงษ์ ระบุว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าหากยังจำเป็นต้องเปิดประเทศ เปิดตลาดการเงินที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งแทบทุกคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กฎหมายและระเบียบจะมีช่องโหว่และไล่ตามไม่ทัน ทั้งเรื่องการเงิน ภาษี และด้านการบัญชี ซึ่งรวมถึงนโยบายบางอย่างของรัฐบาล เช่น โครงการการประกันราคาสินค้าเกษตร หรือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร

“การทุจริตโครงการรัฐ จับตรงไหนก็เจอการกระทำทุจริต เพราะเป็นนโยบายที่เปิดช่องและไม่มีทางปราบได้หมด จะหมดก็ต่อเมื่อไม่มีโครงการ เช่น โครงการรับจำนำมันสำปะหลังที่เป็นคดีพิเศษอยู่ในขณะนี้ ซึ่งโครงการหรือนโยบายของรัฐบาลที่เปิดช่องให้ อาจเป็นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ส่วนมากตั้งใจเราก็รู้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนก็จะไล่ดำเนินการไม่ทัน”

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับอาชญากรรมด้านบัญชี ซึ่งมีเรื่องของกำไรขาดทุนตัวเลขหรือทางบัญชีเข้ามาสร้างความสับสนให้กับพนักงานสอบสวน โดยผู้กระทำผิดจะพยายามหลบเลี่ยงหาวิธีตั้งตัวแทน และยักย้ายถ่ายเทจนทำให้การทำคดีค่อนข้างยากมาก ซึ่งรวมถึงเทคนิคด้านภาษีอากรด้วยมีการยักย้ายถ่ายเท ทำให้การเก็บภาษีไม่ได้ครบถ้วน

อีกปัญหาหนึ่งของอาญากรรมทางเศรษฐกิจ คือ เรื่องการเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งพรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินทุนในการดำเนินกิจการทางการเมือง ถ้าประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจได้รุดหน้าแต่การเมืองไม่พัฒนา ความแตกต่างก็จะยังมีปัญหาได้อยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ข้าราชการทำได้คือไม่ไหลตามน้ำ ยึดถือหลักการ เจตนารมณ์วิชาชีพ แม้บางครั้งอาจต้านไม่ไหวแต่ไม่ควรให้ความร่วมมือ เพราะการให้ความร่วมมือ สุดท้ายข้าราชการจะเป็นคนรับเคราะห์

นอกจากนี้ สำหรับการทำคดีทางเศรษฐกิจ ต้องการให้พิจารณาถึงปัญหาเรื่องกระแส ซึ่งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมักเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและผู้มีชื่อเสียง หลายครั้งที่ผู้กระทำผิดจะใช้ทรัพยากรสร้างกระแสชี้นำคดีผ่านทางสื่อมวลชนได้ ซึ่งกระแสต่างๆ เป็นปัญหาที่มีส่วนทำให้การทำคดีหวั่นไหวได้

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ดีเอสไอไม่ประสบความสำเร็จในการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องยาก จึงทำให้พนักงานสอบสวนเลือกไปทำเรื่องที่ง่ายก่อน เห็นได้ว่า คดีที่เกี่ยวกับตลาดทุน หรือตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคดีที่ถึงศาลฎีกา

นอกจากนี้ ปัญหาการติดตามทรัพย์สินจากคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็ทำได้ยาก ทำให้หลายคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินแต่ก็มีปัญหาติดตามทรัพย์สินไม่ได้ สำหรับกฎหมายดีเอสไอ กำหนดให้คดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ประกันภัย ตลาดเงิน การฉ้อโกง ฮั้วประมูลภาคเอกชน เป็นคดีพิเศษ ซึ่งดีเอสไอจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังเป็นปัญหาเรื่องการทำงานไม่เป็นเอกภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น