xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนโต4.7หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนบอนด์เกาหลีฮอต! โกยเงินเป็นว่าเล่น ล่าสุด ดันกองทุนรวมเดือนเมษายนทั้งระบบโต 47,469 ล้านบาท สินทรัพย์ขยับเป็น 1.68 ล้านล้านบาท ส่วนกองทุนหุ้น ได้อานิสงส์ดัชนีเด้งกลับ ภาพรวมดีขึ้นทั้งกองทุนหุ้น-แอลทีเอฟ คาดตราสารหนี้แดนกิมจิ ยังเป็นพระเอกดึงเงินฝากต่อ ส่วนกองหุ้นได้ลุ้นดัชนีเด้งกลับ ขณะที่บรรยากาศแข่งขันสุดเดือน "กสิกรไทย" พุ่งแรง ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง แซงหน้า "ไทยพาณิชย์" ด้วยสินทรัพย์รวม 3.51 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีวันหยุดค่อนข้างมากแต่กลับคึกคักเป็นพิเศษ โดยการแข่งขันยังอยู่บริษัทจัดการกองทุนภายใต้เครือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการแข่งขันออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่หวังผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก และการลงทุนในประเทศ ดดยกองทุนหลักๆ ที่ออกมานั้น ยังคงเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีกองพันธบัตรอิตาลีเข้ามาแทรกในช่วงท้ายๆ

ทั้งนี้ จากทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ส่งผลให้เดือนเมษายนมีเงินลงทุนไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยสิ้นสุดวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 47,469 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งอุตสาหกรรมมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,686,784.83 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 1,639,315.82 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านี้

โดยกองทุนตราสารหนี้ เห็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นชัดเจนที่สุด ซึ่งเดือนเมษายนมีเงินลงทุนรวม 1,121,068.96 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้านี้ที่มีเงินลงทุนเพียง 1,087,833.87 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 33,235.09 ล้านบาท และชัดเจนว่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกาหลีใต้เป็นหลัก

ส่วนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว ก็ส่งผลให้กองทุนหุ้นกระเตื้องขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยเงินลงทุนรวมล่าสุดอยู่ที่ 267,626.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,361.04 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่มีเงินลงทุนรวม 255,265.16 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเช่นกัน ก็เห็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50,049.19 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้านี้ 47,139.24 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) เอง ก็ได้อานิสงส์เช่นกัน โดยพบว่ามีเงินลงทุนขยับขึ้นจาก 40,172.35 ล้านบาทมาอยู่ที่ 41,346.86 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินลงทุนหลักๆ ที่เพิ่มมา ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนที่ไหลมาจากเงินฝาก ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ และส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้กองทุนหุ้นมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหลังจากนี้ เชื่อว่าในส่วนของกองทุนหุ้นเอง จะเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งในตลาดหุ้นไทยเองจะเห็นว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิแล้วถึง 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ยังได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพระเอกโกยเงินเข้าอุตสาหกรรมกองทุนรวมได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญาณต่างๆ ยังไม่ชัดเจนมากนัก ทำให้ความกังวลยังมีอยู่ อีกทั้งตราสารหนี้ต่างประเทศเองยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าในประเทศค่อนข้างมาก อีกทั้งหากพูดถึงความเสี่ยงเอง ก็อยู่ในข่ายที่รับได้ เพราะกองทุนที่ออกมาล้วนแล้วแต่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเต็มจำนวนทั้งนั้น

**กสิกรไทยยึดบัลลังก์แชมป์คืน**
สำหรับบรรยากาศการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนรวม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันยังอยู่ในบริษัทในเครือแบงก์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ถึงแม้ว่าเงินลงทุนจะไม่ไหลออกระหว่างบริษัทจัดการด้วยกันเองก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นฐานเงินฝากทั้งนั้น แต่ในต้องยอมรับว่าการแข่งขันในแง่ของการเติบโต ค่อนข้างมีสูง เห็นได้จากความพยายามของหลาย บลจ. ที่ต้องการส่วนแบ่งการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น

ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า บริษัทจัดการกองทุนที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) สูงเป็นอันดับต้นๆ ยังคงเป็นบริษัทในเครือแบงก์ใหญ่ โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 1 ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือว่าสามารถเป็นการกลับมารั้งแชมป์ผู้นำตลาดกองทุนรวมได้อีกครั้ง

โดยบลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมสำหรับกองทุนรวมทั้งสิ้น 351,910.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ถึง 27,545.60 ล้านบาท โดยเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากกองทุนเกาหลีใต้เป็นหลัก ซึ่งบลจ.กสิกรไทยเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ 2 มกราคม 2552 บลจ.กสิกรไทย จำกัด เสนอขายกองทุนเปิดเค พันธบัตรเกาหลี 1 ปี ไปแล้วทั้งสิ้น 9 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนเปิดเค พันธบัตรเกาหลี 1 ปี เอเอ, เอบี, เอซี, เอดี, เออี, เอเอฟ, เอจี เอเอช และ เอไอ โดยมียอดระดมทุนประมาณ 26,429 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน กองทุนพันธบัตรเกาหลีที่เปิดขายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 จำนวนทั้งหมด 27 กองทุน ขณะนี้ได้ทยอยครบกำหนดตามอายุโครงการไปแล้วจำนวน 9 กองทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนที่ได้ตามช่วงเวลาที่ลงทุน ส่วนที่เหลืออีก 18 กองทุนจะทยอยครบกำหนดไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552

สำหรับบลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับ 2 มีเงินลงทุนล่าสุดรวมทั้งสิ้น 331,395.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 8,998.46 ล้านบาท จากกองทุนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีที่เปิดขายไปในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

อันดับ 3 ยังคงเป็น บลจ.บัวหลวง ซึ่งประสบความสำเร็จกับการขายกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้เช่นกัน โดยเงินลงทุนในส่วนของกองทุนรวมล่าสุดอยู่ที่ 148,733.57 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนประมาณ 2,445.76 ล้านบาท

อันดับ 4 บลจ.ทหารไทย ด้วยเงินลงทุนรวม 140,244.70 ล้านบาท โดยในเดือนนี้มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง 969.55 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่ายนี้ถือว่าประสบความสำเร็จจากการขายกองทุนทั้งตราสารหนี้เกาหลีใต้เช่นกัน โดยสามารถระดมเม็ดเงินใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 12,161 ล้านบาท จากการขายกองทุนเกาหลีใต้ที่ปิดการขายไปแล้วทั้งหมด 6 รุ่น

อันดับ 5 บลจ.เอ็มเอฟซี ถึงแม้ว่าค่ายนี้ จะไม่มีกองทุนตราสราสารหนี้ออกมามากนัก แต่สินทรัพย์ก็ยังคงที่พอสมควร ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดขายกองทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นกองทุนทองคำและกองทุนน้ำมัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเช่นกัน โดยสินทรัพย์ล่าสุดของเอ็มเอฟซีอยู่ที่ 138,501.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3,255.48 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น