xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมไตรมาสแรกโต8.3% ได้อานิสงส์เงินไหลเข้ามันนี่มาร์เกต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนรวมไตรมาสแรกคึกคัก จบเดือนมีนาคมเงินไหลเข้ารวม 112,704.47 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 8.3% หลังได้อานิสงส์แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินฝาก และหุ้นผันผวน โดย "มันนี่มาร์เกต" เป็นพระเอก โดยเงินลงทุนสูงถึง 118,612.09 ล้านบาทในรอบ 3 เดือน ขณะที่กองหุ้น ยังวูบต่อเนื่อง ด้านมาร์เกตแชร์ล่าสุด "ไทยพาณิชย์" ยังรั้งแชมป์ต่อ โดยมี "กสิกรไทย" จี้ก้นมาติดๆ

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากได้หลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ไหลเข้ามาหาผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น นอกเหนือไปจากนั้น ภาวะการลงทุนให้หุ้นที่ผันผวน ทำให้นักลงทุนโยกเงินส่วนหนึ่งมาพักเอาไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่มาร์เกต) มากขึ้น เนื่องจากเสี่ยงต่ำกว่า และให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าเงินฝาก ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน

โดยจากการรายงานตัวเลขเงินลงทุนในกองทุนรวมของสมาคมบลจ. สิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าทั้งระบบมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,471,378.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 112,704.47 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีสินทรัพย์รวม 1,358,673.70 ล้านบาท โดยสัดส่วนการเพิ่มขึ้นดังกล่าวคิดเป็นการขยายตัว 8.30% จากปลายปี 2551

ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทของสินทรัพย์ พบว่า กองทุนตราสารหนี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีเงินลงทุนในกองทุนประเภทตราสารหนี้รวม 1,087,833.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 113,728.85 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 974,105.02 ล้านบาทในช่วงปลายปีก่อน ซึ่งเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากกองทุนตราสารหนี้ที่บรรดาบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) เปิดขายออกมาเป็นจำนวนมากทั้งกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้เอกชน และทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ หากแยกออกมาเฉพาะกองทุนประเภทมันนี่มาร์เกตจะเห็นว่า เงินลงทุนในกองทุนประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยสิ้นสุดเดือนมีนาคมมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 313,276.21 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 118,612.09 ล้านบาทในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับเงินลงทุนในกองทุนหุ้น พบว่ายังคงได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงของดัชนีหุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากรวมเงินลงทุนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เงินลงทุนลดลงอีก 1,707.24 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมขยับลงมาอยู่ที่ 255,265.16 ล้านบาท จาก 256,972.41 ล้านบาท ส่วนกองทุนผสมเอง สินทรัพย์ก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบางส่วน โดยสินทรัพย์ลดลงประมาณ 3,938.35 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกเป็นกองทุนพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) พบว่ามีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,676.68 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 642.74 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนต่างประเทศ พบว่า เงินลงทุนลดลง 16,517.90 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนที่ลดลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าหลักทรัพย์ในต่างประเทศลดลง รวมถึงการครบอายุการลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศเกาหลีใต้บางส่วน อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในส่วนของกองทุนต่างประเทศเอง อาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากมีกองทุนส่วนหนึ่งที่ครบอายุ และมีกองทุนใหม่ที่ออกมาชดเชย

สำหรับส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ล่าสุด 5 ดันดับแรก มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้นำตลาดเองยังเป็น บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 321,592.08 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 24,047.90 ล้านบาทจากสินทรัพย์รวม 297,544.18 ล้านบาท ในขณะที่บลจ.กสิกรไทย ยังตามมาเป็นอันดับ 2 โดยพบว่าเงินลงทุนล่าสุด ขยับเข้ามาใกล้บลจ.ไทยพาณิชย์มากขึ้นแล้ว โดยบลจ.กสิกรไทย มีเงินลงทุนรวม 319,399.22 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 66,498.05 ล้านบาทในช่วงเวลา 3 เดือนแรกของปี จากเงินลงทุนรวม 252,901.17 ล้านบาทในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ส่วนอันดับ 3 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยบลจ.ทหารไทย แซงหน้าขึ้นมาด้วยสินทรัพย์รวม 138,592.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,356.45 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 128,236.08 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.บัวหลวง ซึ่งตกจากอันดับ 3 โดยมีสินทรัพย์รวม 136,808.08 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณ 6,470.49 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 130,337.59 ล้านบาท และอันดับ 5. บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์รวม 114,214.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1,861.84 ล้านบาทจากสินทรัพย์ 112,352.30 ล้านบาทในช่วงปลายปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น