xs
xsm
sm
md
lg

โพลแบงก์ชาติ เผยเอกชนมอง ศก.ไทยเริ่มฟื้นตัว Q4 ปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลแบงก์ชาติ เผยภาคเอกชนมอง ศก.ไทยฟื้นตัว Q4 ปีนี้ พร้อมชี้ปมอุปสรรคขวางการขยายตัว ทั้งความเชื่อมั่น และการเข้มงวดสินเชื่อ พร้อมเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางกลุ่ม Q2 เริ่มมีออร์เดอร์แล้ว

มีรายงานข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจโครงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลเศรษฐกิจ ระหว่าง ธปท. และสมาคมธุรกิจในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 182 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 โดยพบว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวในราวไตรมาสที่ 4 ของปี 2552

โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ปรับตัวโดยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการแสวงหาตลาดใหม่ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนด้านแรงงานลง โดยเริ่มจากการลดเวลาการทำงาน และลดแรงงานประเภท ลูกจ้างชั่วคราวลง และพยายามรักษาแรงงานมีฝีมือไว้ให้นานที่สุด เพื่อให้สามารถเพิ่มการผลิตได้ทันทีในกรณีที่มีคำสั่งซื้อกลับมา

สำหรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องปิดกิจการ บางส่วนได้รับการรองรับจากโรงงานอุตสหกรรมบางส่วนที่ยังคงขาดแคลนแรงงาน และบางส่วนย้ายกลับไปภาคเกษตร

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จนส่งผลให้ภาวะธุรกิจโดยรวมยังชะลอตัวจนถึงหดตัวในบางธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าคงทนที่พึ่งพิงตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคาดว่าในระยะต่อไป การอุปโภค การลงทุน และการส่งออกจะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนตามการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากการหดตัวของยอดตำหน่ายสินค้าของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะในหมวดอสังหาริมทรัพย์ และหมวดการบริโภคสินค้าคงทน

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แม้ว่าปัญหาการเมืองภายในประเทศจะคลี่คลายลงบ้าง แต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อุปสงค์ในและต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้ธุรกิจลดปริมาณการผลิตลง และมีกำลังการผลิตเหลือมาก ประกอบกับนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น มาตรฐานการให้สินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนออกไป การส่งออกชะลอตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักลดปริมาณการผลิตลง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป และสิ่งทอ

ภาคการผลิตไตรมาส 1 ปี นี้ผู้ประกอบการแทบทุกประเภทสินค้าลดปริมาณการผลิตลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัว สอดคล้องกับการนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลง โดยผู้ประกอบการต้องการระบายสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงออกไปก่อนเพื่อลดต้นทุน และรักษาสภาพคล่องทางการเงิน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าดัชนีผู้ผลิตอุตสาหกรรมเริ่มทรงตัวตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 และเริ่มมีคำสั่งซื้อในไตรมาส 2 กลับเข้ามาในบางอุตสาหกรรม เช่น ฮาร์ดดิสไดร์ สะท้อนว่าอุปสงค์และอุปทานกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อ ผลจากมาตรฐานการให้สินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้นจากความกังวลด้านคุณภาพสินเชื่อ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนต้องการสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุนและสินเชื่อหมุนเวียนลดลงตามคำสั่งซื้อและการผลิตที่ลดลง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงและอุปสงค์ในการดำเนินภาคธุรกิจ ก็คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจชะลอยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของตลาดในประเทศ ตลอดจนปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนผ่อนคลายลงมากจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่ลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น