xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คาดเลวร้ายสุดจีดีพี-5% ปัจจัยการเมืองศก.โลกรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจใหม่ คาดจีดีพีปีนี้ติดลบ 1.5-3.5% จากปัญหาการเมืองยืดเยื้อกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยว ส่วนมูลค่าการส่งออกติดลบ 24-5-27.5% เหตุเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเดี้ยง อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ -1 ถึง 1% แต่หากการเมืองเกิดเหตุรุนแรงและเศรษฐกิจโลกยังทรุดหนัก จีดีพีไทยอาจติดลบ 4-5% แนวโน้มภาคครัวเรือนตกงาน-หนี้เสียเพิ่ม

น.สงดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มต่ำจากการประเมินครั้งก่อนค่อนข้างมากทุกตัวเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทย โดยได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่เป็นหดตัว 3.5% ถึงหดตัว 1.5% จากเดิม 0-2% ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในระดับ 1.5-3.5% จากเดิม 2-4% ในปี 2553

อย่างไรก็ตามใน ปีนี้ยังมีโอกาสเข้าสู่กรณีเลวร้ายได้หากปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นและอาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบ 5% ถึงลบ 4% เนื่องจากการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวเศรษฐกิจได้รับผลกระทบบางส่วนจากเหตุการณ์จราจลช่วงสงกรานต์และยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ในปัจจุบัน และการปรับลดวงเงินงบประมาณปี 52 ซึ่งคาดว่าผลเหล่านี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้

“ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า เศรษฐกิจไทยจากไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวถึง 6.1% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงหดตัวในช่วงไตรมาสแรกติดลบเยอะสุด และค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่สุดท้ายตัวเลขเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวก” น.ส.ดวงมณีกล่าว

การปรับประมาณเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่หดตัวมาก เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลต่อการส่งออกและบริการของไทย รวมถึงเชื่อมโยงไปยังการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ และทำให้การนำเข้าหดตัวลงด้วย ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนถูกกระทบอย่างมากจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ แม้นโยบายการเงินและการคลังพยายามผ่อนคลายค่อนข้างมาก เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวไปมากกว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ประเมินต่ำกว่าครั้งก่อนเช่นกัน โดยคาดว่าหดตัว 1.2% จากเดิมขยายตัว 0.9% ซึ่งคาดว่าถึงต่ำสุดในช่วงกลางปีนี้ เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ หดตัวอย่างชัดเจน จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้นและส่งผลให้เริ่มฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในช่วงปี 2553 อย่างไรก็ตามหากวิกฤตการณ์ทางการเงินส่งผลให้สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชียเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ลึกกว่าเดิมยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกหดตัวได้ถึง 2.9% และค่อยฟื้นตัวอยู่ในแดนบวกในปีหน้า

ธปท.จึงได้ปรับประมาณการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าเป็นติดลบ 27.5% ถึงติดลบ 24.5% จากเดิมติดลบ 8.5% ติดลบ 5.5% เนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออก และคาดว่าในปีหน้าอยู่ที่ 6.5-9.5% ส่วนการนำเข้าคาดว่าหดตัวถึง 34.5% ถึงติดลบ 31.5% จากเดิมติดลบ 10% ถึงลบ 7% และปีหน้าอยู่ที่ระดับ 14-17%

ทำให้ดุลการค้าในปีนี้คาดว่าจะเกินดุลที่ 10,500-13,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมเกินดุล 500-3,500 ล้านเหรียญ และปีหน้าคาดว่าจะเกินดุล 2,500-5,500 ล้านเหรียญ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11,500-14,500 ล้านเหรียญ จากเดิมประเมินว่าจะสมดุลหรือเกินดุลไม่เกิน 3,000 ล้านเหรียญ และปีหน้าเกินดุล 4,000-7,000 ล้านเหรียญ เพราะจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกไทยได้รับผลกระทบน้อย

ด้านการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐและเอกชนต่างปรับประมาณการณ์ลดลงเช่นกันในปีนี้ ปัจจัยลบเกิดจากความเชื่อมั่นที่ลดลง โดยคาดว่าภาครัฐจะมีการลงทุนแค่ 4-6% จากเดิม 13-15% ส่วนการบริโภคเหลือ 11.5-13.5% จากเดิม 13-15% เพราะ ธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากทางการเมืองอาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถการเบิกจ่ายไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และอาจมีการลดวงเงินงบด้านการลงทุนและการบริโภคบางส่วน

"จึงมองว่าปีงบประมาณฯ ปี 52 และ53 มีอัตราการเบิกจ่ายแค่ 93% ทำให้ภาคเอกชนได้รับผลดังกล่าวด้วย จึงปรับให้บริโภคภาคเอกชนติดลบ 0.5% ถึง 0.5% จากเดิมประเมิน 1.5-2.5% ส่วนการลงทุนหดตัวอย่างมากถึง 14 ถึงหดตัว 12% จากเดิมคาดว่าหดตัว 2% หรือไม่ขยายตัวเลย" ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวและว่า

ในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บางไตรมาสอาจติดลบ แต่เชื่อว่าไม่กระทบต่อราคาสินค้าทั้งหมด คาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0-1%ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ลบ 1 ถึง 1% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต่อไปทางโอเปกอาจมีการลดกำลังการผลิตลง เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ลดลงมาก จึงอาจส่งภาคการผลิตหดตัวไปได้

นอกจากนี้มองว่าค่าเงินในภูมิภาค รวมถึงไทย และค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงทั้งปี 52 และปี 53 เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุนกลับสู่สหรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุน ต่างกับเงินเยนที่คาดว่าแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้และกลับอ่อนค่าลงในช่วงปี 53 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.13% ตลอดปีนี้และปีหน้าเป็นผลจากการชะลอตัวเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น โดยภาคธุรกิจแม้ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ แต่ความสามารถในการทำกำไรปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาคครัวเรือนเริ่มมีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำมากขึ้นโดยมีการลดจำนวนชั่วโมงทำงานและการเลิกจ้าง ด้านภาคสถาบันการเงินมีแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อด้อยลง สะท้อนจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาริชย์ในช่วงที่ผ่านมายังดีอยู่ และฐานะโดยรวมยังมีความแข็งแกร่งอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น