xs
xsm
sm
md
lg

สั่งแบงก์ลดค่างวด-ยืดหนี้ ธปท.เพิ่มสภาพคล่อง NPL สกัดวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติทำงานเชิงรุก ผ่อนกฎ 3 ข้อ สกัดหนี้เสียสุดชีวิต ให้แบงก์ลดวงเงินผ่อน หรือยืดเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ได้ แม้ยังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลขอกู้เงินเพิ่มได้ โดยให้พิจารณาฐานะลูกหนี้ขณะนั้น ไม่ต้องเอาฐานะการเป็นเอ็นพีแอลมาเกี่ยวข้อง ยอมรับแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มสวนทางสินเชื่อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ “บัณฑิต” เผยปล่อยอิสระปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ยันสภาพคล่องไม่มีปัญหา

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ในสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า สัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้หารือกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหาการออกตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในช่วงปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยได้มีการหารือกันเพื่อลดอุปสรรคในเรื่องกฎเกณฑ์ของ ธปท.ที่จะอาจจะส่งผลให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับลดเกณฑ์ที่เกี่ยวกับหนี้เอ็นพีแอลไปแล้ว 3 เรื่อง ซึ่งทั้ง 3 เกณฑ์ที่ลดหย่อนให้นั้น เป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่เนื่องจากทราบว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมาก จึงได้ดำเนินการปรับลด โดยเป็นการทราบกันระหว่าง ธปท.และธนาคารพาณิชย์ เรื่องแรกที่ทำไปแล้ว คือ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดวงเงินผ่อน หรือยืดเวลาการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ได้ แม้ว่าจะยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ แต่เริ่มเห็นแนวโน้ม ว่า ฐานะการเงินของลูกหนี้เริ่มมีปัญหา เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถผ่อนหนี้ต่อเนื่องได้ ไม่ต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งเกณฑ์นี้ตามหลักสากลถือว่า จะต้องเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาหรือเป็นเอ็นพีแอลก่อน จึงจะปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นกรณีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นตามสภาพที่แท้จริง

เรื่องที่ 2 ธปท.ยังได้ผ่อนปรนการนับหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ ให้คิดเป็นรายบัญชี ไม่ใช้รายบุคคล ทำให้การนับหนี้เอ็นพีแอล นับเฉพาะบัญชีที่ผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือนเท่านั้น ขณะเดียวกัน เรื่องที่ 3 ยังอนุญาตให้ลูกหนี้ที่บางบัญชีเป็นหนี้เอ็นพีแอล สามารถที่จะยื่นขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ได้ โดยให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาจากฐานะการเงินของลูกหนี้ในขณะนั้นว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ที่จะกู้ใหม่หรือไม่ โดยไม่ต้องดูเรื่องการเป็นหนี้เอ็นพีแอลอีกบัญชีหนึ่ง

“กฎเกณฑ์ของ ธปท.ในขณะนี้ ไม่ได้เข้มมากอย่างที่พูดกันแล้ว ได้มีการยืดหยุ่นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป บางเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้กันในปัจจุบัน อย่างกรณีหนี้เอ็นพีแอล แต่ยอมรับว่า แม้จะมีการปรับลดเกณฑ์ลงแล้ว แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลในระยะต่อไป ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อาจจะยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องยอมรับว่า หากขยายตัวได้ในระดับต่ำ ยกตัวอย่างว่า ในปีนี้สินเชื่ออาจจะขยายตัวเพียงแค่ 5% ก็ ถือได้ว่า ยังเป็นตัวเลขการขยายตัวท่ามกลางความเสี่ยงในด้านเครดิตที่มีมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ติดลบ”

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เท่าที่หารือกับธนาคารพาณิชย์พบว่า ถึงแม้ว่าราคาโดยรวมของดอกเบี้ยเงินกู้ยังลดลงไม่มากเท่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในส่วนของลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี และความน่าเชื่อถือนั้น ธนาคารพาณิชย์เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าราคาดอกเบี้ยเงินกู้จริงอยู่แล้ว แต่ลูกหนี้จำนวนนี้มีไม่มาก ขณะเดียวกัน ลูกหนี้ที่คุณภาพด้อยลงกลับมีมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้หากจะให้กู้คงต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่สูงกว่า หรือบางรายต้องระมัดระวังในเรื่องการให้กู้มากขึ้น

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต 0.5-1% เพื่อช่วยลดภาระลูกค้าและป้องกันปัญหาเอ็นพีแอลในอนาคต ว่า ธปท.ได้ยินข่าวเรื่องนี้มาบ้าง โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนต่างๆ ทั้งของธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เป็นไปตามกลไกตลาดที่เมื่อลูกค้ามีความต้องการสินเชื่อน้อยลง จึงต้องมีการลดดอกเบี้ยลง

“ธปท.จะไม่มีการพิจารณาปรับเพดานทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าสภาพคล่องในปัจจุบันยังมีเพียงพอรองรับการแข่งขันได้ ดังนั้น หากในตลาดมีการแข่งขันในระดับนี้น่าจะช่วยลดแรงกดดันด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้มากและมีช่องทางให้แบงก์พาณิชย์สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้”

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าสภาพคล่องในประเทศหดตัวลง หลังจากที่ภาครัฐหันมากู้ในประเทศมากขึ้น และอาจแย่งสภาพคล่องในส่วนของภาคเอกชนด้วยนั้น รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.จะดูแลความต้องการสินเชื่อทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ซึ่งในปัจจุบันสภาพคล่องมีจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนมีช่องทางในการปรับตัวรูปแบบอื่น นอกเหนือจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรในประเทศ ระดมทุนในตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายแล้วสภาพคล่องในระบบเริ่มตึงตัวขึ้นมา เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการระดมสภาพคล่องด้วยการเร่งเงินฝากมากขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น