xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ ปชช.เซ็งประชุม 2 สภา ไร้ทางออก 82.5% ผวากลียุค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจ ปชช.มองการประชุม 2 สภา ไม่สามารถหาทางออกให้บ้านเมืองได้ เพราะนักการเมืองมุ่งแต่เอาชนะกัน โดยไม่สนใจพูดเรื่องปากท้องประชาชนอย่างจริงจัง การอภิปรายยังไม่สร้างสรรค์ ขณะที่ 82.5% มองสังคมไทยได้เข้าสู่ยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน เต็มไปด้วยการขูดรีด และการทุจริตคอร์รัปชัน

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time Survey)” ในหัวข้อเสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อหาทางออกของวิกฤตชาติ ในวันที่ 24 เมษายน 2552 พบว่า ตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งได้ติดตามการอภิปรายร่วมของ 2 สภา ทั้งนี้ พบว่าประชาชนร้อยละ 11.2 ระบุว่า ได้ติดตามอย่างละเอียดต่อเนื่องทั้งสองวัน ในขณะที่ร้อยละ 49.1 ระบุติดตามบ้าง

ดร.นพดล กล่าวถึงผลสำรวจต่อไปว่ากรณีความคิดเห็นของตัวอย่างต่อลักษณะปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ โดยพบว่า ร้อยละ 95.8 ระบุ ข้าวยากหมากแพง มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน ในขณะที่ร้อยละ 94.1 ระบุ นักการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน ไม่สนใจปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างจริงจัง ร้อยละ 82.5 ระบุ ประเทศกำลังเข้าใกล้สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน ร้อยละ 81.1 ระบุ ประชาชนถูกขูดรีด มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่ร้อยละ 72.1 ระบุ ตนเองยังมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่

เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสมาชิกสภาที่อภิปรายในทางที่สร้างสรรค์เพื่อไปสู่แนวทางที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข พบว่า ร้อยละ 34.4 ระบุ การอภิปรายของทั้งสองกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 33.3 ระบุ การอภิปรายของ ส.ส.ร้อยละ 21.0 ระบุ การอภิปรายของกลุ่มวุฒิสมาชิก อย่างไงก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 11.3 ระบุ ไม่สร้างสรรคทั้งสองกลุ่ม

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อข้อเสนอทางออกที่ได้ยินได้ฟังจากการประชุมร่วม 2 สภานั้น พบว่า ร้อยละ 87.2 ระบุ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการร่วมอิสระ แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 84.8 ระบุ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการร่วมอิสระปฏิรูประบบราชการ ด้านความมั่นคงของประเทศ ร้อยละ 84.2 ระบุเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมอิสระตรวจสอบ เหตุการณ์จลาจลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 80.8 ระบุ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการร่วมอิสระพิจารณาออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม (จัดระเบียบการชุมนุมของประชาชน) และร้อยละ 71.6 ระบุ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการร่วมอิสระ ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ พบว่า ร้อยละ 63.7 เห็นด้วยที่จะมีการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีบางคน ในขณะที่ร้อยละ 36.3 ไม่เห็นด้วย สำหรับในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น พบว่า ร้อยละ 53.6 ระบุ เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 46.4 ระบุ ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 34.9 เห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 65.1 ไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็นการให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น พบว่า ร้อยละ 25.9 ระบุ เห็นด้วย ในขณะที่มากกว่า 2 ใน 3 คือ ร้อยละ 74.1 ระบุ ไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับการประเด็นการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี ที่พบว่า ร้อยละ 23.1 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 76.9 ระบุ ไม่เห็นด้วย

ดร.นพดล กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นต่อแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น พบว่า ร้อยละ 57.3 ระบุ เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชน/ มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้ง/อยากให้ประเทศชาติสงบสุข/ยังไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 42.7 ระบุ ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าอาจเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิด/ฉบับนี้ดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้ไข/ไม่อยากให้นักการเมืองที่ประวัติไม่ดีกลับเข้ามาอีก เป็นต้น

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อประโยชน์ที่ได้รับจากการประชุมร่วม 2 สภาที่ผ่านมานั้นพบว่า ร้อยละ 49.3 ระบุ ได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 51.7 ระบุ ค่อนข้างน้อย-ไม่ได้รับประโยชน์เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น