xs
xsm
sm
md
lg

พลิกแฟ้มคดีป.ป.ช.ฟัน“ทักษิณ”คดีกรุงไทยปล่อยกู้หมื่นล.อุ้มเครือกฤษดามหานคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการรายวัน – พลิกแฟ้มคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครนับหมื่นล้าน เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวกพ้อง

คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร เป็นหนึ่งในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้สอบสวน ไต่สวน และสรุปสำนวนคดีพร้อมกับส่งต้นฉบับและสำเนา จำนวน ๒๖๒ แฟ้ม รวม ๕๐,๓๗๘ แผ่น พร้อมชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาอื่น รวม ๓๑ ราย ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการพิจารณาสำนวน และมีความเห็นสั่งคดี ตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑

แต่อย่างไรก็ตาม ทางอัยการสูงสุด มีความเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์จึงแจ้งเรื่องมายัง ป.ป.ช. พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช. โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และล่าสุด นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงว่า สำนวนคดีดังกล่าวสมบูรณ์แล้วและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

สำหรับความเป็นมาของคดีดังกล่าว และสำนวนคดี ของ คตส. ที่ส่งไปยังอัยการสูงสุด มีรายละเอียด ดังนี้

*** ๑. ความเป็นมาของเรื่อง

กรณีกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม ๓๗ คน กระทำความผิดเกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ฐานร่วมกันหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย ฯ ผู้ถือหุ้น และประชาชน ผู้หนึ่งผู้ใด

และ/หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย ฯ กระทำความผิดหน้าที่ของตนโดยการกระทำการและหรือไม่กระทำการโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงไทย ฯ ผู้ถือหุ้นและประชาชน ผู้ฝากเงินและ/หรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และประมวลกฎหมายอาญา

***ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินคดีผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีให้สินเชื่อแก่บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด และการอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)

และได้มีการดำเนินการสอบสวนและต่อมากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้มีส่งสำนวนการสอบสวนให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีมติ ให้รับเรื่องมาทำการตรวจสอบโดยตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปเสนอคณะกรรมการตรวจสอบให้วินิจฉัยว่ามีมูลคดีที่น่าเชื่อถือหรือไม่ และมีข้อกล่าวหาบุคคลใดบ้าง

หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วคณะอนุกรรมการตรวจสอบได้ทำรายงานเสนอคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานตลอดจนทำรายงานเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ ได้มีคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหา พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการบริหารและพนักงานธนาคารกรุงไทย กับพวก ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นพนักงานหรือเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

และที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ฯ โดยให้ดำเนินการกับอดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม ๓๗ คน ดังกล่าวข้างต้น และคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ทำการไต่สวนโดยแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดทราบและให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับอนุกรรมการไต่สวน

๒.ข้อเท็จจริง

หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนได้รับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาและถ้อยคำของพยานบุคคลรวม ๑๒๒ ปากแล้ว รับฟังได้ ดังนี้

ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ฯ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ซึ่งมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารกรุงไทย เนื่องจากผู้อำนวยการฝ่าย ฝายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง ได้เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานคร ในอันดับ ๕ คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้

***แต่ต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า บริษัทกฤษดามหานคร ฯ ใม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูง คือ มียอดสะสมสูงมาก แต่ต่อมาได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร โดยอ้างว่าได้จัดอันดับความเสี่ยงใหม่ให้อยู่ในลำดับที่ ๓ คือ มีความเสี่ยงที่พอยอมรับได้ และมีความผิดปกติ ทั้ง ๓ กรณี คือ บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด ได้มีการดำเนินการโดยทำเป็นวาระจรและดำเนินการเร่งด่วนเป็นเวลาเพียง ๓ วัน

***ส่วนการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด นั้นในชั้นแรกได้มีการอนุมัติตามที่มีการเสนอ แต่ต่อมามีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการขอสินเชื่อ โดยไม่ได้นำไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง และการอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งกรรมการบริหารบางคนได้สั่งให้ดำเนินการแตกต่างจากมติเดิมที่ให้ขายหุ้นและดำเนินการใหม่บางประการอันทำให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย

๒.๔ พฤติการณ์ที่กล่าวหาทั้งสามกรณี

ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ฯ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ได้อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)

คือ บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน ๕๐๐ ล้านบาท และให้สินเชื่อบริษัทโกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน ๙,๙๐๐ ล้านบาท (วงเงิน refinance ๘,๐๐๐ ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม ๕๐๐ ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ ๑,๔๐๐ ล้านบาท)

การขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน ๑,๑๘๕,๗๓๕,๓๘๐ บาท เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก

๓. การดำเนินการในชั้นไต่สวน

คณะอนุกรรมการไต่สวนได้กล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด ๓๗ ราย ดังได้กล่าวมาแล้วโดยได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดและเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและได้มีการสืบพยานเพิ่มเติม

หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นคณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปข้อเท็จจริง ความเห็น เหตุผลและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณา

๔. มติของคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ

คณะกรรมการตรวจสอบ ฯ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๒๘/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ แล้ว มีมติ ดังนี้

ที่ประชุม ฯ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนนำเสนอ รับฟังได้ว่ามีการอนุมัติสินเชื่อจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐและมีการกระทำความผิดตามที่เสนอ จึงมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ดังนี้

***ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย ฯ ผู้ถือหุ้นและประชาชน ผู้หนึ่งผู้ใด และ/หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย ฯ กระทำความผิดหน้าที่ของตนโดยกระทำการและหรือไม่กระทำการโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงไทย ฯ ผู้ถือหุ้นและประชาชน ผู้ฝากเงินและ/หรือให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด

อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ มาตรา ๘ และมาตรา ๑๑ พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๖ นว พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๐๗ มาตรา ๓๐๘ มาตรา ๓๑๑ มาตรา ๓๑๓ และมาตรา ๓๑๕ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๙๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ มาตรา ๑๕๗ มาตรา ๓๕๒ มาตรา ๓๕๓ มาตรา ๓๕๔ ประกอบ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๖ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อคณะกรรมการสินเชื่อคณะกรรมการบริหารนิติบุคคล ผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัว.นักการเมืองและพวก ๒๗ ราย

ส่วนผู้ที่ได้รับเงินจากการกระทำความผิด คตส. เห็นว่าให้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลฎหมายอาญามาตรา ๓๕๗ ฐานรับของโจร เป็นจำนวน ๔ ราย แม้บุคคลเหล่านั้นไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับบุคคล ๒๗ รายข้างต้น แต่ได้รับเงินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานยักยอก และช่วยปิดบังซ่อนเร้นอันทำให้ยากต่อการติดตาม และบุคคลทั้งสี่นี้ให้แยกสำนวนไปดำเนินคดีในศาลอาญาต่อไป

นอกจากนั้นให้ข้อกล่าวหาตกไป ๖ ราย เนื่องจากบางรายมีพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำความผิด และบางรายไม่มีพยานหลักฐานว่ากระทำความผิด

๕ การดำเนินการหลังมติคณะกรรมการตรวจสอบ ฯ

***หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบ ฯ ได้ทำสำนวนการสอบสวนแล้ว ได้ดำเนินการส่งต้นฉบับ และสำเนา จำนวน ๒๖๒ แฟ้ม รวม ๕๐,๓๗๘ แผ่น พร้อมชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาอื่น รวม ๓๑ ราย ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการพิจารณาสำนวน และมีความเห็นสั่งคดี ตามที่กฎหมายกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น