xs
xsm
sm
md
lg

บล.ฟิลลิปเล็งเทกฯโบรกขยายฐานลูกค้า เผยอยู่ระหว่างเจรจาชี้ติดข้อตกลงราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล. ฟิลลิป เล็งเทกฯ โบรกเกอร์รายอื่น เผยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา 3-4 ราย ชี้ยังไม่สรุปเหตุติดปัญหาข้อตกลงเรื่องราคา หวังขยายฐานลูกค้า พร้อมเปิดรับโบรกชเกอร์รายอื่นที่ต้องการขายกิจการ หวังขยายฐานลูกค้าหากมีโบรกเกอร์รายใดต้องการเสนอขายกิจการ เล็งปรับลดพนักงานในส่วนออฟฟิตเพื่อลดต้นทุน หลังวอลุ่มบางรายได้หด ตั้งเป้าแชร์ปีนี้เพิ่มเป็น 3.5%

นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการ ( เทกโอเวอร์ ) ของธุรกิจหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประมาณ 3-4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 ราย หวังขยายฐานลูกค้ารายย่อย พร้อมกันนี้ก็ยังเปิดรับโบรกเกอร์รายอื่นที่ต้องการเสนอขายกิจการ โดยแหล่งเงินทุนคาดว่ามาจากกระแสเงินสดของบริษัทเองหากเป็นโบรกเกอร์ไซด์เล็ก แต่หากเป็นไซด์ใหญ่หรือต้องใช้เงินสูง อาจต้องใช้เงินจากกลุ่ม บล.ฟิลลิป เองที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือ

" ดีลส่วนใหญ่ยังคงติดปัญหาเรื่องการตกลงราคาแต่ทางเราก็ไม่ได้รีบร้อน และพร้อมเปิดรับโบรกเกอร์รายอื่นที่สนใจจะเสนอขายกิจการออกมา ส่วนเงินที่จะใช้เข้าซื้อโบรกฯ คงต้องขึ้นอยู่กับราคาว่าจะขนาดไหน" นายชาย กล่าว

ทั้งนี้ จากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มูลการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ไตรมาสแรกปีนี้ค่อนข้างเบาบางเฉลี่ยเพียง 8,659.71 ล้านบาทต่อวัน เทียบกับปี 51 ที่มีวอลุ่มเฉลี่ย 15,869.94 ล้านบาทต่อวัน หรือลดลง 45.43% ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวน่ามีผลให้รายได้ของบริษัทปรับลดลง ซึ่งทาง บล.ฟิลลิปนั้นเชื่อว่าหากจะมีกำไรจากการดำเนินงานนั้น ภาพรวมตลาดหุ้นไทยคงต้องวอลุ่มตลาดฯ อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน

โดยปีนี้บริษัทฯ คงไม่มีแนวคิดที่จะรับพนักงานใหม่เพิ่มเติม แต่เตรียมจะปรับลดพนักงาน (lay off)ในส่วนของแบ็กออฟฟิตในบางตำแหน่งลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องมีการตัดออกไปเพื่อลดต้นทุนและให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ในปี 52 บริษัทฯ ประเมินว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ที่ 3.5% จากปัจจุบันที่มีมาร์เกตแชร์ 3.1% ผลมาจากการขยายสินค้าในตลาดอนุพันธ์ (tfex) เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงหุ้นสามัญรายตัว (single stock future) สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (gold future) เป็นต้น อีกทั้งบริษัทฯ ได้มีการหันมารุกงานด้านการควบรวม (M&A) ด้านวาณิชธนกิจ (IB) เพิ่มเติมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะเห็นธุรกิจหลักทรัพย์หลายแห่งควบรวมเพื่อความอยู่รอดได้มากขึ้น จึงเชื่อว่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะหันเน้นงานด้านนี้เพื่อทดแทนรายได้ส่วนจากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของ บล.ฟิลลิปจะแบ่งเป็น ลูกค้ารายย่อย 90% และสถาบันการเงิน 10% และบัญชีที่เปิดซื้อขายกับบริษัททั้งหมดจำนวน 30,000 บัญชี โดยเป็นบัญชีที่มีการซื้อขายเป็นประจำ (active) ประมาณ 3,000 บัญชี ซึ่งในจำนวนบัญชีทั้งหมดจะมีบัญชีที่เปิดซื้อขายในกระดานต่างประเทศจำนวน 150 บัญชี
กำลังโหลดความคิดเห็น