xs
xsm
sm
md
lg

คาดที่ประชุมบอร์ด กนง. 8 เม.ย.นี้ จ่อหั่น ดบ.ลงอีก 0.25-0.50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการประชุมบอร์ด กนง. วันที่ 8 เม.ย.นี้ มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% เพื่อพยุงภาวะ ศก.ที่อาจทรุดตัว ชี้ความเสี่ยงด้าน ศก.มีมากกว่าเงินเฟ้อ เชื่อส่งผลต่อตลาดไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยในระบบธนาคารลงต่ำแล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 เมษายน 2552 นี้ อาจจะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ดอกเบี้ยอาร์พี) ลงอีกไม่น้อยกว่า 0.25% จากระดับ 1.50% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ 1.25% หรือต่ำกว่านั้น โดยการปรับลด 0.50% ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัจจัยลบทั้งจากในและต่างประเทศยังคงเป็นแรงกดดัน ทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมีน้ำหนักที่สำคัญอย่างชัดเจนมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกในช่วงปีนี้ แม้ว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงอาจมีประสิทธิผลไม่เต็มที่นักภายใต้จังหวะเวลาที่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงมีอยู่มากเช่นปัจจุบัน อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินที่ปรับลดลงอาจไม่ใช่ปัจจัยเพียงประการเดียวที่จะสามารถพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจได้

"ธปท.คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจำต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ควบคู่ไปกับการดูแลสภาพคล่องในระบบให้มีอยู่อย่างเพียงพอสำหรับทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการทรุดตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย"

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยฯ ก็เชื่อว่า ธปท.จะรอเวลาที่การดำเนินนโยบายการคลังผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่องของ ธปท.จะเริ่มทยอยปรากฏผลในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากภาวะซบเซาเช่นเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแ ละเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า หาก กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกตามที่คาด ธนาคารพาณิชย์อาจมีแนวโน้มขยับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมลงตาม แต่อาจด้วยขนาดที่ไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันค่อนข้างต่ำและแทบจะไม่มีความแตกต่างระหว่างประเภทอายุเงินฝากแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในการระดมเงินทุนของธนาคารพาณิชย์อาจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ รวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ด้วยเงื่อนไขผลตอบแทนที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อการรักษาฐานลูกค้าและการบริหารจัดการสภาพคล่องของแต่ละธนาคารแล้ว ยังเป็นการล็อคเงินทุนด้วยต้นทุนในระดับต่ำไว้เพื่อรองรับการขยายธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสามารถจะฟื้นตัวขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น