xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเค้นแผนรับมือรายได้หด 1.8 แสนล้าน สั่งขุดบัญชีเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลเตรียมแผนรองรับผลกระทบจัดเก็บรายได้ลดลง หลังคาดการณ์ "จีดีพี" ปี 52 แนวโน้มติดลบ 2.5% คาดต่ำกว่าเป้า 1.8 แสนล้านบาท สั่งเอาผิดผู้เลี่ยงภาษี "กรณ์" เตรียมประชุม รมว.คลังอาเซียน สัปดาห์หน้า ชงตั้งกองทุนอาเซียน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการหารือร่วมกับกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เพื่อหาทางรับมือปัญหารายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่องและต่ำกว่าประมาณการณ์ วานนี้ โดยระบุว่า ตนเองได้รับรายงานว่าทั้ง 3 หน่วยงาน ยังไม่มีการปรับประมาณการรายได้ในขณะนี้ แต่ยอมรับว่าแนวโน้มยังมีความกดดันความสามารถในการจัดเก็บรายได้ เพราะการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เหลือติดลบร้อยละ 2.5 ย่อมส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ของรัฐบาลอาจต่ำกว่าเป้าหมายถึง 180,000 ล้านบาท จึงได้มอบหมายกรมสรรพากร เข้มงวดและเอาผิดกับผู้หลีกเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง ส่วนรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงไว้แล้ว ทั้งการบริหารเงินสดและการคำนวณงบประมาณรายจ่ายปี 2553 ให้สอดคล้องกับรายได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะใช้วิธีการใด ต้องดูสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือปัญหาเศรษฐกิจและการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2553 ให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนอาเซียน เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือในเวทีการประชุม รัฐมนตรีคลัง อาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 13 (ASEAN Finance Minister's Meeting : AFMM) ในวันที่ 6-9 เมษายน 2552

"การประชุมครั้งนี้ กลุ่มอาเซียนจะมีการหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 ที่เน้นการลงทุน ซึ่งจะมีการกำหนดวิธีการลงขันเพื่อการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโครงการด้านขนส่ง ที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาค"

สำหรับเงินจัดตั้งกองทุน เบื้องต้นจะมาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันแต่ละประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงสมควรจะนำมาใช้ในการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยรูปแบบที่เป็นไปได้อาจมีการดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี มีการออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน และมีการเบิกจ่ายก็ต่อเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นจริง

"กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการระดมเงินทุนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน ภูมิภาคอาเซียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะเน้นการลงทุนโดยเฉพาะ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกในการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว แตกต่างกับการจัดตั้งกองทุนที่ริเริ่มขึ้น เมื่อครั้งการประชุมคลัง อาเชียนที่เชียงใหม่ที่เป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องระหว่างประเทศ"

นอกจากนี้ ก็จะมีการหารือถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนริเริ่มที่เชียงใหม่ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดเฉพาะในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน ให้ได้ข้อสรุป เพื่อนำไปเสนอให้กลุ่มประเทศบวก 3 ประกอบด้วย ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่นทราบ โดยคาดว่าจะได้ข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนในการประชุม รมว.คลัง อาเซียน+3 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเชีย

นายกรณ์ กล่าวว่า การประชุม AFMM จะมีการจัดทำ Road Show ในงาน ASEAN Investment Day ซึ่งจะจัดในวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2552 ที่บาหลี เพื่อให้นักลงทุนเอกชนรับทราบแผนการลงุทนของประเทศอาเซียน ให้เอกชนสามารถร่วมลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่ไทยจะดำเนินการสนันสนุนการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในวงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ในระยะ 3 ปี

นอกจากนี้ จะมีการเสนอผลการศึกษาแผนการปฎิบัติการด้านการพัฒนาตลาดทุนสู่การรวมตลาด (ASEAN Capital Market Forum) ให้ที่ประชุมเห็นชอบ ซึ่งในแผนจะเป็นการวางแนวทางการรวมตลาดทุนอาเซียนเข้าด้วยกัน ตามเป้าหมายการรวมตัวทางเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 และเป็นการขยายช่องทางการลงทุนในอาเซียน รวมทั้งจะมีการรายงานผลการประชุม G-20 ให้อาเซียนรับทราบ เพื่อรองรับผลกระทบวิกฤตในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น