xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คโชว์แก้ศก.โลก-ปฏิรูปIMF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์/ASTVผู้จัดการรายวัน - "อภิสิทธิ์" โชว์แนวความคิดร่วมแก้ปัญหาวิกฤตระดับโลก ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ โดยชี้ว่าแม้นานาชาติจะมีความพยายามปฏิรูปด้วยการเพิ่มทุนให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ทว่าชาติกำลังพัฒนาจำนวนมาก ก็จะยังไม่สามารถหรือไม่ปรารถนาที่จะใช้ความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ หากยังไม่มีการผ่อนคลายเงื่อนไขเข้มงวดที่ตามปกติแล้วจะบังคับเอากับประเทศผู้ขอเงินกู้

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ด้านการเงินอันทรงอิทธิพลยิ่งของอังกฤษฉบับนี้ ระหว่างที่เขาไปเยือนกรุงลอนดอนในสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาเรียกร้องอย่างเร่งด่วน ให้การประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม จี 20 ซึ่งจะจัดขึ้นต้นเดือนเมษายนนี้ เน้นให้ความสนใจแก่ชะตากรรมของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย

"เมื่อกลุ่มจี 20 พูดกันถึงการปฏิรูปพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศนั้น มันไม่ควรจะเป็นแค่คำถามในเรื่องการเพิ่มเงินทุนเท่านั้น แต่ยังควรต้องเป็นเรื่องที่ว่าจะใช้เงินทุนนี้กันอย่างไรด้วย" เป็นความเห็นของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งจะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำที่กรุงลอนดอนคราวนี้ด้วย ในฐานะประธานของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

"นี่หมายความว่าจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เงินช่วยเหลือใหม่ๆ เหล่านี้จะมุ่งไปทำให้บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง, ทำให้การพัฒนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง, และสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม"

เขาชี้ว่า คนยากจนที่สุดจะต้องแบกรับผลกระทบรุนแรงหนักหน่วงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกคราวนี้ "เมื่อคุณส่งออกลดลงไปราว 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ คุณก็จะต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่พุ่งลิ่ว เราไม่ได้มีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม และโครงการสวัสดิการต่างๆ ในระดับเดียวกับที่พวกประเทศตะวันตกมีกันอยู่

"ไอเอ็มเอฟจำเป็นจะต้องทบทวนบทบาทของตนเอง เรายังคงรู้สึกเป็นห่วงว่า ตอนที่กองทุนปล่อยสินเชื่อนั้น จะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับประเทศจำนวนหนึ่งที่จะใช้เงินกู้ดังกล่าว โดยที่ไม่สร้างความกระทบกระเทือนต่อแผนการพัฒนาของพวกเขาเอง"

นายกรัฐมนตรีไทยบอกว่า บทเรียนประการหนึ่งจากวิกฤตทางการเงินปี 1997 ในเอเชีย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทย ก็คือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกไอเอ็มเอฟบังคับให้ปฏิบัติตามนั้น ได้ก่อให้เกิด "ความเจ็บปวดอันไม่มีความจำเป็น" เลย

"(เงื่อนไข)บางอย่างนั้นมีความจำเป็นอยู่หรอก ทว่ามันอาจจะมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเข้มงวดสินเชื่อและเรื่องอัตราดอกเบี้ย" เขากล่าว ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่า ทั้งสหรัฐฯและพวกประเทศในยุโรปในขณะที่กำลังหาทางต่อสู้รับมือกับวิกฤตอยู่นี้ ต่างไม่มีใครเลยเชื่อฟังทำตามประดาเงื่อนไขต่างๆ ที่ปกติแล้วไอเอ็มเอฟจะต้องบังคับให้ใช้ และดังนั้นจึงไม่ควรนำเอามาบังคับพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ ในสภาพการณ์ที่ "พิเศษผิดธรรมดา" ในปัจจุบัน

ในฐานะที่เป็นประเทศส่งออกที่สำคัญรายหนึ่ง ประเทศไทยก็กำลังเผชิญปัญหาการส่งออกทรุดฮวบลงอย่างรุนแรงสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ทั่วโลก โดยในเดือนมกราคมนั้น ยอดการส่งออกตกลงเป็นสถิติใหม่ถึง 26% ดังนั้น ไทยจึงปรารถนาที่จะเห็นไอเอ็มเอฟจัดทำแผนการในลักษณะการประกันสินเชื่อทางการค้าขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินอันจำเป็นยิ่ง จะได้ทำให้การค้าหมุนเวียนต่อไปได้ ทั้งนี้ตามความเห็นของ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลังของไทย ซึ่งติดตามนายอภิสิทธิ์ มาร่วมการให้สัมภาษณ์ด้วย

"ไอเอ็มเอฟจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องทบทวนบทบาทของตัวเอง และผมคิดว่าข้อเสนอของรัฐบาลอังกฤษที่เรียกร้องให้ทางกองทุนฯแสดงบทบาทในการทำให้เกิดความมั่นใจว่าการค้าทั้งในรูปสินค้าและรูปบริการจะยังคงไหลเวียนได้อย่างต่อเนื่องนั้น เป็นข้อเสนอที่ดี" นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์บอกด้วยว่า บรรดารัฐมนตรีคลังของสมาคมอาเซียนได้ตกลงกันแล้วที่จะเพิ่มเงินทุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)ขึ้นอีก 200% ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็กล่าวว่า อาเซียนได้ตกลงกันแล้วเช่นกันที่จะขยายความตกลงสว็อปและกองกลางทุนสำรอง จากเดิมที่มีมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์ เป็น 120 ล้านดอลลาร์ และหวังว่าจะสามารถตกลงรายละเอียดการจ่ายเงินสมทบกันได้ในการประชุมเดือนเมษายนนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น