xs
xsm
sm
md
lg

คลังเร่งแผนกู้นอก 7 หมื่นล. หนุนมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังใส่เกียร์ห้าแก้ปัญหาวิกฤต ศก.หนักเกินคาด สบน.เตรียมแผนกู้ 7 หมื่นล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เล็งเจรจา "เวิลด์แบงก์-เอดีบี-ไจก้า" ใช้เงื่อนไข ดบ.ต่ำ-ผ่อนชำระยาว เพื่อเป็นงบสนับสนุนการใช้ในมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดที่ 2 "กรณ์" คาดสรุปได้ภายใน 1 เดือน เตรียมตั้งทีมกลั่นกรองโครงการ และดูแลการใช้เม็ดเงินใกล้ชิด

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 2 โดยระบุว่า ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ 3 แห่ง คือ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท ตามยุทธศาสตร์ของโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

นายพงษ์ภาณุ กล่วว่า การเจรจาขอวงเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง มีข้อตกลงในเบื้องต้นไว้แล้วเกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้ โดยในส่วนของเวิลด์แบงก์ และเอดีบี ซึ่งจะให้กู้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอิง Libor บวกเล็กน้อย ซึ่งจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดมาก ขณะที่ไจก้าจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.4% ระยะเวลาชำระคืนหนี้ 25 ปี เช่นเดียวกับเงื่อนไขการกู้เงินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ วงเงินกู้ทั้งหมดไม่มีเงื่อนไขพิเศษในการให้กู้ โดยให้ถือเป็นงบประมาณสนับสนุน (budget Support) ที่รัฐบาลสามารถนำเงินกู้ไปดำเนินโครงการต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม

"ขณะนี้ เรากำลังทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเร็วๆ นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการกู้เงินที่เป็นสัญญาผูกพันระหว่างประเทศ ต้องนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมสภาด้วย"

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวส่วนหนึ่งที่จะนำไปใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศทั้ง 3 แห่ง วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2552 เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

"สำหรับเงินจำนวนนี้จะเอามาใช้อย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน โดยกระทรวงการคลังจะตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) กลั่นกรองโครงการ และดูแลเงื่อนไขการใช้เม็ดเงินอย่างใกล้ชิด"

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งจัดทำกรอบเจรจาเงินกู้ต่างประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อรัฐบาลจะนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ก่อนมีการทำสัญญาเงินกู้เพื่อใช้ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น