xs
xsm
sm
md
lg

แนะ"เอเชีย"เลิกเสพติดการส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี -ประเทศในเอเชียที่ได้สมญานามว่า "โรงงานอุตสาหกรรมของโลก" ควรหันมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้มากขึ้น แทนการพึ่งพาความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ ที่กำลังหดตัวอย่างรวดเร็วเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรง ทั้งนี้เป็นคำแนะนำของพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ช่ำชองภูมิภาคแถบนี้

เศรษฐกิจของเอเชียซึ่งพึ่งการส่งออกเป็นหลัก ได้ถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เพราะว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯและยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ต่างควักกระเป๋าซื้อสินค้าน้อยลงมาก

การส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนมกราคมนั้นตกลงไป 32.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนที่ญี่ปุ่น ยอดส่งออกเดือนธันวาคมก็ลดลง 35% และไต้หวัน การส่งออกในเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ร่วงลง 41.9% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับจีน ซึ่งเป็นหัวรถจักรใหญ่ที่คอยฉุดดึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแถบนี้อย่างมากมายมาหลายปี ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม ยอดการส่งออกก็ดิ่งลง 2.8% นับเป็นการหดตัวของยอดส่งออกติดกันเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน รวมทั้งเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษอีกด้วย

ภาวะชะลอตัวหมายความว่า ประเทศในเอเชียจำจะต้องหันมาทบทวนแนวความคิดที่ว่า "เอเชียผลิต อเมริกันซื้อ" ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคแถบนี้มานาน โดยบัดนี้จะต้องหันไปกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศแทน มาซาฮิโร คาวาอิ ผู้อำนวยการสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ให้ความเห็น

คาวาอิกล่าวในการประชุมสัมมนาที่จัดโดยสมาคมอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รูปแบบทเอเชียผลิต อเมริกันซื้อ กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะมีสภาพที่ถาวรมากทีเดียว หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะอยู่ในสภาพ "กึ่งถาวร"

"เอเชียยังควรจะคงสถานะการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแห่งโลกต่อไป แต่ก็จะต้องกระตุ้นการบริโภคภายในให้มากขึ้นด้วย ชาวเอเชียจะต้องบริโภคและใช้เงินให้มากขึ้น" เป็นความเห็นของผู้อำนวยการสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย อันเป็นสถาบันศึกษาวิจัยของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

ทางด้านเฟดเดอริก นิวมานน์ นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียของธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า รัฐบาลในเอเชียต่างทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจของตนกลับสู่ความรุ่งเรืองดังเดิม แต่ว่าเอเชียต้องการการปฏิรูปที่ถึงรากถึงโคนมากกว่านั้น

หากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นไปในช่วงสั้น ๆ รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก "แต่หากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่กระเตื้องขึ้นภายในปี 2010 แล้วละก้อ เศรษฐกิจเอเชียจำต้องเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างกันเลยทีเดียวเพื่อความอยู่รอด" นิวมานน์ชี้

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในเอเชียต้องทำก็คือ ลดอัตราการออมเงินของประชาชนให้น้อยลง ถึงแม้มันจะเป็นรากฐานอันหนึ่งของความแข็งแกร่งแห่งเอเชีย นิวมานน์บอกว่า ในเวลานี้สิ่งที่รัฐบาลในเอเชียต้องทำก็คือ พยายามทำให้ประชาชนของตนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะจับจ่ายใช้สอย

คาวาอิก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน โดยเขากล่าวยกตัวอย่างว่า ในประเทศจีน ซึ่งมีอัตราการออมเงินสูงมาก รัฐบาลควรจะนำระบบประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินชดเชยหลังเกษียณ การประกันสุขภาพ และการศึกษา มาใช้โดยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น บริการของรัฐเหล่านี้จะทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าจะต้องออมเงินมากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในเขตชนบทให้ก้าวหน้าขึ้นด้วย

ส่วนในอินเดียและประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน คาวาอิแนะนำว่า รัฐบาลควรจะกระตุ้นการลงทุน รวมทั้งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังมีคุณภาพต่ำ นอกจากนี้บรรดารัฐบาลในเอเชียควรจะเลิกใช้นโยบายที่ไม่สร้างสรรค์ อย่างเช่น แข่งกันกดค่าเงินให้อ่อนกว่ามูลค่าที่แท้จริง, อุดหนุนการส่งออก หรือกีดกันการนำเข้า เพราะจะทำให้ไม่เกิดความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น